ส่วนที่ 2 การรับจดทะเบียนและผลแห่งการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
[8] มาตรา 29 เมื่อนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใด
ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น
การประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
([8] มาตรา 29 แก้ไขโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2543 )
มาตรา 30 เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมาย
การค้ารายใดตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แล้ว หากปรากฏแก่นายทะเบียนในภายหลังว่า เครื่องหมาย
การค้ารายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 ก็ดีหรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมาย
การค้ารายนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ อันจำเป็นจะต้องเพิกถอนคำสั่งให้ ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นก็ดี ถ้ายังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมาย
การค้ารายนั้น ให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอ จดทะเบียนทราบพร้อมด้วยเหตุผลโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนตามวรรคหนึ่งหลังจากที่ได้มีการประกาศโฆษณา คำขอจดทะเบียนตามมาตรา 29 แล้ว ให้ประกาศโฆษณาคำสั่งเพิกถอนนั้นด้วยตามวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง
[9] มาตรา 31 ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน
ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้อุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้อุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว และคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของนายทะเบียนถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนดังกล่าวต่อไปได้
ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียน
(๑) ดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นต่อไป ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง ก่อนที่จะมีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๒๙
(๒) ดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นใหม่ ในกรณีที่ได้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๐ วรรคสองแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสองหรือวรรคสามให้เป็นที่สุด”
([9] มาตรา 31 แก้ไขโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2543)
มาตรา 32 ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนตามมาตรา 30 หลังจากที่ได้มีการคัดค้าน ตามมาตรา 35 แล้วให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งเพิกถอนนั้นให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า
[10] มาตรา 33 ในกรณีตามมาตรา ๓๒ ถ้านายทะเบียนยังมิได้มีคำวินิจฉัยคำคัดค้านนั้น ให้รอการวินิจฉัยไว้ก่อน จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง หรือจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๑ วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
([10] มาตรา 33 วรรคหนึ่งแก้ไขโดยมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 )
ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา 30
ถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านนั้น และมีหนังสือแจ้งคำสั่งให้ผู้คัดค้านทราบโดย
ไม่ชักช้า คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด
ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา 30 ไม่ถูกต้องให้นายทะเบียนดำเนินการวินิจฉัยคำคัดค้านนั้นต่อไป
มาตรา 34 ในกรณีตามมาตรา 32 ถ้านายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยคำคัดค้านนั้นแล้ว และ
มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา 37 ให้นายทะเบียนแจ้งให้คณะกรรมการทราบและ ให้นำมาตรา 33 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 35 เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดตามมาตรา 29 แล้ว บุคคลใดเห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น หรือเห็นว่าเครื่องหมายการค้า รายนั้นไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าราย นั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลนั้นจะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา 29 พร้อมทั้ง แสดงเหตุแห่งการคัดค้าน
การคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
[11] มาตรา 36 ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา ๓๕ ให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอจดทะเบียนโดยไม่ชักช้า
ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยแสดงเหตุที่ตนอาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้าน และให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำโต้แย้งนั้นไปยังผู้คัดค้านโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้ดำเนินการตามวรรคสอง ให้ถือว่าผู้ขอจดทะเบียนละทิ้งคำขอจดทะเบียน
ในการพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้าน นายทะเบียนจะมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านมาให้ถ้อยคำ ทำคำชี้แจง หรือแสดงหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้ หากผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้านต่อไปตามหลักฐานที่มีอยู่”
([11] มาตรา 36 แก้ไขโดยมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2543 )
มาตรา 37 เมื่อนายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผล ให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า
ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดคด้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ
ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการ
วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า
มาตรา 38 เมื่อคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วย
เหตุผลให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า
ผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการโดยฟ้องคดีต่อศาล
ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
การฟ้องคดีตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 37 วรรคสองแล้ว
มาตรา 39 ในกรณีที่มิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนภายในกำหนดเวลาตาม
มาตรา 37 วรรคสอง หรือมิได้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในกำหนดเวลาตาม
มาตรา 38 วรรคสอง ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนหรือของคณะกรรมการแล้วแต่กรณี เป็น
ที่สุด
มาตรา 40 ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 35 ก็ดี หรือมีการคัดค้านตามมาตรา 35
แต่ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนก็ดี
ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้
เมื่อได้มีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือ แจ้งคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ และให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าละทิ้งคำขอจดทะเบียน
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 41 ในกรณีที่ผู้คัดค้านตามมาตรา 35 เป็นผู้ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมาย
การค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ตนคัดค้านนั้น และมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือ
คำสั่งถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ถูกคัดค้าน ถ้าเครื่องหมายการค้าที่คัดค้านขอจดทะเบียนนั้นมี
ลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นถูกต้องตาม
บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ตามวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวงโดยไม่ต้องประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านอีก
[12] มาตรา 42 เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดแล้ว ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น สำหรับกรณีตามมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๒๘ ทวิ ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนในราชอาณาจักร เป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น
([12] มาตรา 42 แก้ไขโดยมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2543)
มาตรา 43 เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ให้นายทะเบียนออกหนังสือสำคัญ
แสดงการจดทะเบียนให้แก่ผู้ขอจดทะเบียนตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
ถ้าหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชำรุดในสาระสำคัญหรือสูญหายเจ้าของเครื่องหมาย
การค้าจะยื่นคำขอรับใบแทนหนังสือสำคัญดังกล่าวต่อนายทะเบียนก็ได้
การออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแบบที่กำหนด ในกฎกระทรวง
มาตรา 44 ภายใต้บังคับมาตรา 27 และมาตรา 28 เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
แล้ว ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้
เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้
มาตรา 45 เครื่องหมายการค้าอันได้จดทะเบียนไว้โดยมิได้จำกัดสีนั้น ให้ถือว่าได้จดทะเบียนไว้ทุกสี
มาตรา 46 บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้
จดทะเบียน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวไม่ได้
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน
ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
มาตรา 47 การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการขัดขวางบุคคลใดในการใช้โดย
สุจริตซึ่งชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อสำนักงานการค้าของตนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของตน หรือไม่เป็นการขัดขวางบุคคลใดในการใช้คำบรรยายโดยสุจริตซึ่งลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าของตน