ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาลิขสิทธิ์ที่น่าสนใจ
- ถ้าผู้เขียนได้เขียนตำราวิชาการร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ แล้วได้นำบทใดบทหนึ่งจากตำราดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นบทที่มีชื่อผู้เขียนเพียงคนเดียว(หรือร่วมกับชาวต่างชาติ) มาเรียบเรียงเป็นภาษาไทย โดยที่เนื้อหานั้นแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เพราะเนื้อหาเป็น fact จะถือว่าเราละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
ตอบ ในกรณีที่มีการเขียนตำราร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ และผลงานดังกล่าวเข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ประเภทงานวรรณกรรม ให้ถือว่าผลงานนั้นมีลิขสิทธิ์ร่วมกัน ถ้าผู้สร้างสรรค์คนใดคนหนึ่งต้องการนำบางส่วนจากตำราเล่มนั้นมาจัดทำเป็นภาษาไทย อาจแยกพิจารณาได้ 2 กรณี
1) ถ้าบทหรือบางส่วนที่นำมานั้นผู้เขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เพียงผู้เดียว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะนำงานส่วนนั้นมาทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ฯลฯ ตามมาตรา 15 พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฯ โดยไม่ต้องขออนุญาต จากผู้สร้างสรรค์ร่วมและไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
2) ถ้าบทหรือบางส่วนที่นำมานั้นผู้เขียนได้สร้างสรรค์ร่วมกับผู้อื่น การที่จะนำงานส่วนนั้นมาเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ต้องได้รับอนุญาตจากผู้สร้างสรรค์ร่วมมิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 27
- ผู้เขียนได้แต่งตำราเล่มหนึ่งขณะที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ก. ต่อมาได้ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัย ข หากผู้เขียนได้จัดพิมพ์ตำราเล่มดังกล่าวภายใต้ชื่อหน่วยงานที่สองจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ถ้าลิขสิทธิ์ครั้งแรกเป็นของมหาวิทยาลัย ก
ตอบ – งานที่ผู้เขียนสร้างสรรค์ขึ้นในขณะที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชน ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผลงานนั้นจะเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 9 ดังนั้น ผู้เขียนสามารถนำผลงานดังกล่าว ไปจัดพิมพ์ซ้ำภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยอื่นได้ แต่ถ้ามีการทำสัญญาตกลงให้ผลงานดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ มหาวิทยาลัยเอกชนนั้น การที่ผู้เขียนย้ายไปสอนที่สถาบันอื่นแล้วนำผลงานนั้นไปจัดพิมพ์ภายใต้ชื่อสถาบันแห่งใหม่ โดยไม่ได้ขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยฯ จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
– กรณีผู้เขียนได้สร้างสรรค์ขณะสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ และเป็นการกระทำตามคำสั่ง หรือในความควบคุมของมหาวิทยาลัย ผลงานนั้นจะเป็นลิขสิทธิ์ของทางมหาวิทยาลัย ถ้าไม่ได้ทำการตกลง กันไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่มีสิทธินำผลงานนั้นไปจัดพิมพ์ใหม่โดยไม่ได้ขออนุญาต จากทางมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งนั้นได้ แต่ถ้าผู้เขียนได้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเองโดยทางมหาวิทยาลัย มิได้จ้างหรือสั่งให้ทำ ผลงานนั้นผู้เขียนจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และสามารถนำผลงานนั้นไปจัดพิมพ์ใหม่ได้ หรือกระทำใดๆ เพราะเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว (มาตรา 14)
- การลอกเลียนภาพถ่ายตำราภาษาอังกฤษ โดยทำการดัดแปลงคำบรรยายหรือพลิกมุมรูปให้แตกต่างจากเดิม ในกรณีนี้จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
ตอบ ตำราภาษาอังกฤษเข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ การลอกเลียนภาพถ่ายจากตำราดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยนำมาดัดแปลงคำบรรยายหรือพลิกมุมรูปให้ต่างไปจากเดิม ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 27 ระบุว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ถ้าได้กระทำการดังนี้คือ ทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ฯลฯ
- การเขียนตำราภาษาต่างประเทศบางครั้งผู้เขียนนำเอาบทความหรือตัดข้อความมาจากวารสาร นิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ แล้วนำมาสร้างบทเรียนและแบบฝึกหัด
1) ในกรณีดังกล่าวผู้เขียนอ้างแหล่งที่มาเฉยๆ หรือต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากเจ้าของบทความก่อนถึงจะนำมาใช้ได้
ตอบ ถ้าการนำบทความจากสื่อต่างๆ มาสร้างบทเรียนและแบบฝึกหัด เพื่อประโยชน์ในการสอน โดยไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้วอ้างอิงแหล่งที่มาของบทความนั้นๆ หากไม่เป็นการขัดต่อการ แสวงหาผลประโยชน์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ก็จะไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (ตามมาตรา 32)
2) ในกรณีที่บทความนั้นนำมาจากนิตยสารที่เขียนมานานเกิน 10 ปี แล้วต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่
ตอบ นิตยสารจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทวรรณกรรม ซึ่งได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ กับอีกห้าสิบปีภายหลังผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์ในงานนั้นจะมี อายุการคุ้มครอง 50 ปี นับจากสร้างสรรค์หรือโฆษณา บทความที่นำมาจากนิตยสารซึ่งเขียนมาเกิน 10 ปี หากอายุการคุ้มครองยังคงมีอยู่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน (มาตรา19)
- งานแปลจากอินเตอร์เน็ตต้องขอจดลิขสิทธิ์หรือไม่
ตอบ งานที่มีการเขียนลงบน WEB SITE แล้วส่งผ่านอินเตอร์เนตนั้นถือว่าเป็น สิ่งเขียนซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของงานวรรณกรรม ดังนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (มาตรา 15) หากผู้ใดต้องการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน มิฉะนั้นจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (มาตรา 27) การดัดแปลงงานจากอินเตอร์เนตเป็นภาษาไทย จึงต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการคุ้มครองอัตโนมัติ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้สร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ส่วนคุ้มครองลิขสิทธิ์ สำนักลิขสิทธิ์ โทร. 5474704