ความรู้ทั่วไปเรื่องเครื่องหมายการค้า – การปกป้องสิทธิในเครื่องหมายการค้า

การปกป้องสิทธิในเครื่องหมายการค้า

เนื่องจากคนไทยยังให้ความสนใจในเรื่องเครื่องหมายการค้าน้อยมาก จึงมักเกิดกรณีการโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าอยู่เสมอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น

(1) เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่สนใจนำเครื่องหมายการค้าของตนไปยื่นขอจดทะเบียนตามกฎหมาย

(2) เจ้าของเครื่องหมายการค้าปล่อยให้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วขาดอายุ โดยไม่สนใจไปขอจดทะเบียนต่ออายุทุก 10 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด

(3) เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียน แล้วไม่สนใจยื่นคำคัดค้านเมื่อเครื่องหมายของผู้อื่น ที่อาจเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของตน ได้รับประกาศโฆษณาก่อนการรับจดทะเบียน

การที่เจ้าของเครื่องหมายไม่สนใจดูแลสิทธิของตน ทำให้เกิดช่องทางให้ผู้ไม่สุจริตนำเครื่องหมายนั้นไปยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งหากคำขอที่ยื่นมานั้นถูกต้องครบถ้วน และเจ้าของที่แท้จริงไม่ได้ยื่นคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นก็ย่อมได้รับจดทะเบียน และมักจะส่งผลให้เกิดกรณีนำเครื่องหมายนั้นไปต่อรองหาผลประโยชน์ เช่น

นำไปเรียกร้องผลประโยชน์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการโอนเครื่องหมายนั้นกลับคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง
นำไปกลั่นแกล้งดำเนินคดีกับเจ้าของที่แท้จริง โดยกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดเครื่องหมายของตน
นำไปขมขู่เรียกร้องผลประโยชน์ จากผู้จำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้น โดยกล่าวหาว่ากระทำละเมิดเครื่องหมายของตน

กรณีที่เป็นปัญหาสำคัญอยู่ในขณะนี้ คือการที่เครื่องหมายการค้าของไทยถูกละเมิดในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากผู้ส่งออกสินค้าของไทย ไม่นำเครื่องหมายของตนไปยื่นขอจดทะเบียนในประเทศที่จะส่งสินค้าไปจำหน่าย ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจในหลักสากลที่ว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศใดย่อมได้รับความคุ้มครองเฉพาะในประเทศนั้น ทำให้คู่แข่งขันหรือตัวแทนผู้จำหน่ายสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายฉวยโอกาสแอบนำเครื่องหมายไปจดทะเบียนไว้แทน เป็นผลทำให้เครื่องหมายการค้าของคนไทยกลายเป็นเครื่องหมายที่ถูกต้องของผู้ขอจดทะเบียนในต่างประเทศ จึงเกิดปัญหากับเจ้าของเครื่องหมายที่แท้จริงไม่สามารถส่งสินค้าออกไปขายในประเทศนั้นได้อีก เพราะหากส่งสินค้าไปก็จะกลายเป็นการกระทำละเมิดเครื่องหมายของผู้อื่น

Scroll to Top