ความรู้เรื่องสิทธิบัตร – การเตรียมคำขอรับสิทธิบัตร

คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ประกอบด้วย

ก. แบบพิมพ์คำขอ และเอกสารประกอบ

ข. รายละเอียดการประดิษฐ์

ค. ข้อถือสิทธิ

ง. รูปเขียน (ถ้ามี)

จ. บทสรุปการประดิษฐ์

ก. แบบพิมพ์คำขอ และเอกสารประกอบ

แบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตรผู้ขอรับสิทธิบัตรต้องใช้แบบพิมพ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

กำหนดและจะพิมพ์ขึ้น ซึ่งได้แก่แบบ สป/สผ/001-ก

ส่วนเอกสารประกอบคำขอมีอยู่สองลักษณะ คือ

1.1 เอกสารหลักฐานแสดงสิทธิขอรับสิทธิบัตร มีลักษณะต่างๆ ดังนี้

ในกรณีผู้ขอเป็นผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ยื่นคำรับรองเกี่ยวกับ

สิทธิขอรับสิทธิบัตรโดยใช้แบบ สป/สผ/001-ก (พ) แต่ถ้าผู้ขอซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์เป็น

คนต่างด้าวและอ่านภาษาไทยไม่เข้าใจให้ใช้ Form PI/PD/001-A (Add)

ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนดและจัดพิมพ์ขึ้น

ผู้ขอจะต้องยื่นแบบพิมพ์ดังกล่าวพร้อมกับการยื่นขอรับสิทธิบัตร

แต่ถ้าไม่สามารถยื่นพร้อมกับคำขอได้ ก็อาจขอผ่อนผันได้ 2 ครั้ง คือ

ครั้งแรกขอผ่อนผันได้เป็นเวลา 90 วัน และครั้งที่สองขอผ่อนผันได้อีก 30 วัน

โดยต้องยื่นขอผ่อนผันก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน

ในกรณีที่ผู้ขอมิใช่ผู้ประดิษฐ์แต่เป็นผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรในฐานะอื่น เช่นเป็นนายจ้าง

หรือผู้ว่าจ้างของผู้ประดิษฐ์ เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ประดิษฐ์ หรือ

เป็นผู้รับโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตรจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานแสดงว่าเป็น

ผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรในฐานะดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เอกสารหลักฐานดังกล่าวจะต้องถูกต้อง

ตามแบบที่กฎหมายกำหนดด้วย เช่น ผู้ขอที่เป็นผู้รับโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตรจะต้อง

ยื่นหนังสือโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตรที่ลงลายมือชื่อทั้งผู้โอนและผู้รับโอนด้วย เป็นต้น

1.2 เอกสารหลักฐานการมอบอำนาจให้ตัวแทนกระทำการแทน

ผู้ขอจะต้องมอบอำนาจให้ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา

เพื่อดำเนินการขอรับสิทธิบัตรแทนโดยทำเป็นหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีได้ 2 กรณี คือ

  1. ผู้ขอเป็นผู้ที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในกรณีดังกล่าว
  2. หนังสือมอบอำนาจจะต้องมีคำรับรองของทูต ที่ปรึกษาการพาณิชย ข้าหลวงพาณิชย์

ผู้ช่วยทูตการพาณิชย์ หรือกงสุลไทย ซึ่งประจำอยู่ในประเทศนั้น

หรือมีคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศที่ผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่

ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่ โนตารีพับลิค (Notary-Public)ถ้าหนังสือมอบอำนาจ

หรือคำรับรองดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ผู้ยื่นจัด

ให้มีคำแปลเป็นภาษาไทย โดยมีคำรับรองของผู้แปลและผู้รับมอบอำนาจว่า

เป็นคำแปลภาษาไทยที่ถูกต้องตรงกับหนังสือมอบอำนาจหรือคำรับรองนั้น

และยื่นคำแปลดังกล่าวพร้อมกับหนังสือมอบอำนาจหรือคำรับรองด้วย

  1. ผู้ขอเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแต่ประสงค์จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการ

แทน (คือไม่ประสงค์จะดำเนินการด้วยตนเอง)

ข. รายละเอียดการประดิษฐ์

รายละเอียดการประดิษฐ์เป็นส่วนที่ผู้ขอจะต้องจัดทำขึ้นเองโดยจะต้องมีลักษณะดังที่

กล่าวข้างต้น ทั้งนี้ โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (พ.ศ2522)

ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตรด้วย กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดว่า รายละเอียด

ต้องระบุหัวข้อเรื่องตามลำดับ ดังต่อไปนี้

ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ จะต้องระบุว่าการประดิษฐ์นั้นคืออะไร โดยระบุถึงลักษณะ

สำคัญของการประดิษฐ์นั้นด้วย เช่น พัดลมไฟฟ้า กรรมวิธีหล่อผนังคอนกรีต เตาอบไฟฟ้า แบบจ่ายความร้อน เป็นต้น จะต้องไม่ใช้ชื่อที่ตั้งขึ้นเอง

หรือเครื่องหมายการค้า เช่น เตาอบไฟฟ้าสุรชัย และจะต้องไม่ใช้ชื่อที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ เช่น

เตาแก๊สมหัศจรรย์ หรือปากกาเนรมิต เป็นต้น

ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์

จะต้องระบุถึงลักษณะที่สำคัญของการประดิษฐ์โดยย่อ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการประดิษฐ์

ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การขอรับสิทธิบัตร

สำหรับ “อุปกรณ์และวิธีวัดความยาวของวัตถุโดยความยาวคลื่นแสงเลเซอร์” ผู้จะขอระบุว่า

“ลักษณะของอุปกรณ์อันเป็นการประดิษฐ์นี้ประกอบด้วยแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ เครื่องตรวจจับ

สัญญาณ ส่วนบังคับทิศทาง โดยมีวงจรทางอีเลคโทรนิคควบคุมการทำงานและความยาว

ของวัตถุและจุดประสงค์ของการประดิษฐ์ดังกล่าว คือ เพื่อที่จะให้การวัดความยาวของวัตถุ

มีค่าถูกต้องแน่นอนยิ่งขึ้นคโคคคค

สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์

จะต้องระบุว่าการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรจัดอยู่ในสาขาวิทยาการหรือเทคโนโลยีด้านใด เช่น

วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า เคมี ฟิสิกส์ เป็นต้น

ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยการที่เกี่ยวข้อง

จะต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว พร้อมทั้งข้อบกพร่องต่างๆ หรือปัญหาของ

การประดิษฐ์ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรนั้นแตกต่าง

กับการประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนแล้วอย่างไรและเพียงใด ตัวอย่างเช่น การขอรับสิทธิบัตรสำหรับ

“อุปกรณ์และวิธีการวัดความยาวของวัตถุโดยความยาวคลื่นแสงเลเซอร์” ดังกล่าวข้างต้น

ในหัวข้อนี้จะระบุว่า “ก่อนที่จะคิดประดิษฐ์การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรนี้

การวัดความยาวจะทำโดยเทียบกับความยาวมาตรฐาน 1 เมตร

ที่ทำจากโลหะผสมระหว่างนิกอนกับโครเมี่ยมหรือที่เรียกกันว่า “นิโครม”

ความยาวดังกล่าวอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากสัมประสิทธิ์การขยายตัว

ของโลหะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งเป็นเหตุให้ความยาวมาตรฐาน

ดังกล่าวนั้นไม่คงที่ “ ในกรณีที่เป็นการประดิษฐ์ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนเลย ผู้ขออาจ

จะระบุถึงปัญหาในทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดแนวคิดดังกล่าว

การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์

จะต้องระบุถึงรายละเอียดของการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรว่ามีลักษณะโครงสร้าง ส่วนประกอบ

องค์ประกอบ หรือขั้นตอนอย่างไรบ้าง การบรรยายในหัวข้อนี้จะต้องละเอียดสมบูรณ์

และชัดเจนพอที่จะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในสาขาวิทยาการนั้นๆ

สามารถอ่านแล้วเข้าใจถึงการประดิษฐ์นั้นได้ และสามารถนำไปใช้และปฏิบัติ

ตามการประดิษฐ์นั้นได้ด้วย

ในหัวข้อการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์นี้

ผู้เขียนควรคำนึงถึงความชัดเจนเป็นหลักดังนั้น ควรกำหนดลักษณะและขั้นตอนการบรรยายให้ดี

หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกลไก หรือเครื่องมือต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรูปเขียน

ประกอบในกรณีดังกล่าว การอ้างอิงลักษณะทางโครงสร้างในหัวข้อนี้

จะต้องสอดคล้องกับรูปเขียนด้วย ตัวอย่างในกรณีที่เป็นการขอรับสิทธิบัตร

สำหรับเครื่องมือหรือกลไก ในขั้นแรกควรอธิบายถึงส่วนประกอบหรือโครงสร้าง

ของการประดิษฐ์นั้นว่ามีส่วนประกอบอย่างไร ประกอบกันในลักษณะใด

และประกอบกันแล้วจะให้ผลในทางปฏิบัติอย่างไร

ขั้นที่สองควรอธิบายถึงระบบการทำงานหรือกรรมวิธีในการผลิต

เริ่มตั้งแต่นำวัตถุดิบเข้าระบบและผ่านขบวนการต่างๆ ของอุปกรณ์

ซึ่งควรจะระบุถึงรายละเอียดของขั้นตอนนั้นๆ ด้วย จนกระทั้งได้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จออกมา

คำอธิบายรูปเขียนโดยย่อ จะต้องระบุถึงรูปเขียนที่เสนอมาพร้อมกับคำขอ (ถ้ามี) โดยระบุว่ารูปเขียนแต่ละรูป

แสดงถึงส่วนใดของการประดิษฐ์ เช่น รูปที่ 1 แสดงถึงส่วนประกอบ

ทั้งหมดของเครื่องจักร รูปที่ 2 แสดงถึงส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องจักร เป็นต้น

วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด

ในกรณีที่มีการระบุในหัวข้อการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ถึงวิธีการประดิษฐ์หลายวิธี

ผู้ขอจะต้องระบุถึงวิธีการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด แต่ถ้ามีการเปิดเผยวิธีการประดิษฐ์

เพียงวิธีเดียวในหัวข้อการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ผู้ขอก็สามารถระบุว่า

“วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุดได้แก่ วิธีการดังที่ได้บรรยายไว้ในหัวข้อการ

เปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์”

การใช้ประโยชน์ของการประดิษฐ์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม หัตถกรรม

เกษตรกรรม หรือพาณิชยกรรม

ในกรณีที่ลักษณะของการประดิษฐ์เองไม่สามารถแสดงได้ว่าจะนำไปใช้ในการผลิตในด้านต่างๆ

ได้หรือไม่เป็นอย่างไร เช่น การประดิษฐ์สารประกอบเคมีขึ้นใหม่ผู้ขอจะต้องอธิบายให้เห็นว่า

สามารถนำเอาการประดิษฐ์นั้นไปใช้ในทางใดบ้าง และมีประโยชน์อย่างไร

แต่ถ้าโดยลักษณะของการประดิษฐ์นั้นเองแสดงให้เห็นได้อยู่แล้วว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ใน

ด้านการผลิตได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีหัวข้อนี้

ค. ข้อถือสิทธิ

เป็นส่วนที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรระบุถึงขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ต้องการได้รับความคุ้มครอง

ข้อถือสิทธิเปรียบได้กับการกำหนดขอบเขตอันเป็นพื้นที่ที่เป็นสิทธิของเจ้าของโฉนดที่ดิน

ข้อถือสิทธิจะกำหนดขอบเขตอันเกี่ยวกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่เป็นสิทธิของผู้ทรงสิทธิที่บุคคล

อื่นมีหน้าที่ที่จะต้องเคารพและละเว้นจากการกระทำอันจะเป็นการละเมิดสิทธิ

ของผู้ทรงสิทธิบัตร

ข้อถือสิทธิ

เป็นการระบุถึงส่วนของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอต้องการสงวนสิทธิมิให้คนอื่นแสดงหาประโยชน์จากการ

ประดิษฐ์ โดยหลักการทั่วไปแล้ว ขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ระบุในข้อถือสิทธิจะต้องไม่กว้าง

หรือเกินไปกว่าที่ผู้ขอได้ทำการประดิษฐ์นั้น และที่ได้เปิดเผยในรายละเอียดการประดิษฐ์

ดังนั้นหากผู้ขอต้องการขอถือสิทธิในลักษณะของส่วนของการประดิษฐ์

ก็จะต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะส่วนนั้นของการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ชัดแจ้ง

และรัดกุมในรายละเอียดการประดิษฐ์ด้วย

ข้อถือสิทธิต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอประสงค์จะขอรับความคุ้มครองโดย

ชัดแจ้ง รัดกุม และสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์

ถ้าข้อถือสิทธิไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คำขอนั้นอาจถูกปฏิเสธได้

หลักที่ว่าข้อถือสิทธิจะต้องสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์

ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นส่วนที่ว่าข้อถือสิทธิจะต้องชัดแจ้งและรัดกุมนั้น พอสรุปได้ว่ามีอยู่ 2

ความหมายดังนี้

1. ลักษณะของถ้อยคำที่ใช้จะต้องชัดแจ้งและรัดกุม

ถ้อยคำที่ใช้จะต้องชัดเจน ห้ามใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ

หรือมีความหมายเพื่อเลือกแบบกว้างๆ เช่น

ระบุว่าส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการประดิษฐ์นั้น

“ทำจากโลหะหรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน” ย่อมไม่ชัดเจน

เพราะสิ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับโลหะมีมากมาย

(2) ลักษณะของการแยกและจัดลำดับข้อถือสิทธิ

ความชัดแจ้งและรัดกุมของข้อถือสิทธิอาจเกิดขึ้นจากวิธีการ

แยกและการจัดลำดับข้อถือสิทธิ รวมทั้งการอ้างอิงถึงข้อถือสิทธิอื่นๆ

ในคำขอเดียวกันนั้นด้วย

การพิจารณาว่าควรแยกข้อถือสิทธิออกเป็นหลายข้อหรือควรมีข้อถือสิทธิ

เพียงข้อเดียวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตร

ว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะองค์ประกอบหรือโครงสร้างซับซ้อนหรือไม่เพียงใด

ถ้าเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนก็ไม่ควรแยกข้อถือสิทธิเป็นหลายข้อ

เพราะจะทำให้ขาดความชัดแจ้งและรัดกุม ในทางกลับกันถ้าเป็น

การประดิษฐ์ที่ซับซ้อนมาก หากไม่แยกข้อถือสิทธิออกเป็นหลายๆ

ข้อก็จะทำให้ขาดความชัดแจ้งและรัดกุมเช่นเดียวกัน

ข้อถือสิทธิที่ใช้ระบุถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นสาระสำคัญของการประดิษฐ์

เรียกว่า “ข้อถือสิทธิหลัก”

ส่วนข้อถือสิทธิที่ระลึกถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นลักษณะพิเศษหรือ

รายละเอียดปลีกย่อย เรียกว่า “ข้อถือสิทธิรอง”

โดยทั่วไป การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรมักมีลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมาก

จึงมักจะมีข้อถือหลักเพียงข้อเดียวและมีข้อถือสิทธิรองอีก 2-3 ข้อ

ในกรณีที่ข้อถือสิทธิหลักเพียงข้อเดียวไม่สามารถคลุมถึงลักษณะทางเทคนิคของ

การประดิษฐ์ได้ทั้งหมด ผู้ขอจะระบุข้อถือสิทธิหลักหลายข้อ

สำหรับลักษณะของการประดิษฐ์ประเภทเดียวกันในคำขอรับสิทธิบัตรฉบับหนึ่ง

ก็ได้การอ้างถึงข้อถือสิทธิอื่นในข้อถือรองนั้น จะต้องอ้างในลักษณะที่เป็น

ทางเลือกเท่านั้น ประกอบด้วยเครื่องเขย่าที่มีลักษณะพิเศษ….” แต่จะระบุว่า “6.

เครื่องซักผ้าตาม 1 และ 4. ซึ่งประกอบด้วยเครื่องเขย่าที่มีลักษณะพิเศษ” ไม่ได้

ง. รูปเขียน (ถ้ามี)

เป็นส่วนที่จะช่วยให้ผู้อ่านคำขอรับสิทธิบัตรสามารถเข้าใจรายละเอียดการประดิษฐ์ได้ดี

ขึ้น ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดว่า หากจำเป็นเพื่อที่จะทำให้สามารถเข้าใจการประดิษฐ์โดยทั่วไป

รูปเขียนมักจะจำเป็นในกรณีที่เป็นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ในสาขาวิศวกรรม

เครื่องกล ฟิสิกส์ด้วย หากผู้ขอไม่ยื่นรูปเขียนในกรณีที่จำเป็นคำขอนั้นอาจถูกปฏิเสธได้

รูปเขียนจะต้องแสดงให้เห็นชัดเจนสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์และเป็น

ไปตามหลักวิชาการเขียนแบบ ตามลักษณะและวิธีที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนด เช่น

จะต้องเขียนด้วยหมึกสีดำเข้มที่สามารถอยู่ได้ทนนาน และห้ามระบายสีเขียน

โดยใช้อุปกรณ์การเขียนแบบมีสัดส่วนที่ถูกต้อง และใช้สัญญลักษณ์ (Drawing Symbols)

ตามที่กำหนดเป็นต้น

จ. บทสรุปการประดิษฐ์

เป็นส่วนของคำขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่จะช่วยให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตร และผู้สนใจ สามารถตรวจค้น หรือค้นคว้าเกี่ยวกับการประดิษฐ์

นั้นโดยไม่ต้องเสียเวลามาก ผู้ขอจะต้องจัดทำบทสรุปการประดิษฐ์ในทุกกรณี

หากผู้ขอไม่ยื่นบทสรุปการประดิษฐ์ด้วย คำขอนั้นอาจถูกปฏิเสธได้

บทสรุปการประดิษฐ์ต้องสรุปสาระสำคัญของการประดิษฐ์ที่ได้เปิดเผยหรือ

แสดงไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิและรูปเขียน (ถ้ามี)

โดยจะต้องระบุลักษณะทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์โดยย่อ

แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงปัญหาทางเทคนิค

ตลอดจนการแก้ไขปัญหาโดยการประดิษฐ์ และการใช้การประดิษฐ์นั้น โดยจะต้องรัดกุม

ชัดแจ้งและมีถ้อยคำไม่เกิน 200 คำ

ส่วนประกอบทั้ง 5 ส่วนของคำขอรับสิทธิบัตร นอกจากส่วนที่ 1

คือแบบพิมพ์คำขอแล้วส่วนอื่นๆ คือ รายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ รูปเขียน

และบทสรุปการประดิษฐ์ เป็นส่วนที่ผู้ขอจะต้องเตรียมจัดทำเองทั้งสิ้น ทั้งนี้

จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

ของกฎหมายสิทธิบัตรและเพื่อประโยชน์ในด้านการบริหารงาน หลักเกณฑ์

และวิธีการดังกล่าวที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

    1. คำขอรับสิทธิบัตรและเอกสารหลักฐาน จะต้องยื่นอย่างน้อย 3 ชุด หรือตามจำนวนที่

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนด แต่ไม่เกิน 5 ชุด

    1. คำขอจะต้องมีข้อความถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในแบบพิมพ์
    2. คำขอและส่วนประกอบทุกส่วนจะต้องพิมพ์หรือดีดพิมพ์ข้อความเป็นภาษาไทย
    3. ลงลายมือชื่อผู้ขอหรือตัวแทนในคำขอ

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับการจัดเตรียมคำขอรับสิทธิบัตร

อยู่เป็นอันมาก ก่อนจัดทำคำขอรับสิทธิบัตรควรศึกษากฎกระทรวง (พ.ศ. 2522)

ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตรและประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ที่เกี่ยวข้อง

คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย

ก. แบบพิมพ์คำขอและเอกสารประกอบ

ข. ข้อถือสิทธิ

ค. ภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์

ง. คำพรรณนาแบบผลิตภัณฑ์ (ถ้ามี)

ก. แบบพิมพ์คำขอและเอกสารประกอบ

เป็นเอกสารที่แสดงเจตนาของผู้ขอต้องการที่จะได้รับความคุ้มครองตาม

กฎหมายและเป็นการระบุและแสดงหลักฐานว่าผู้ขอมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรในฐานะอะไร

แบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ขอต้องใช้แบบพิมพ์ที่กรมทรัพย์สิน

ทางปัญญา กำหนดและจัดพิมพ์ขึ้น ซึ่งได้แก่แบบ สป/สผ/001-ก อันเป็นแบบพิมพ์คำขอ

ที่ใช้สำหรับขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นเอง ซึ่งกำหนดให้ผู้ขอระบุถึงผลิตภัณฑ์ที่จะใช้

การออกแบบผลิตภัณฑ์ในแบบพิมพ์คำขอด้วย กรณีคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ คือ

เอกสารหลักฐานแสดงสิทธิขอรับสิทธิบัตร และเอกสารหลักฐานการมอบอำนาจให้ตัวแทน

เป็นผู้กระทำการแทน ผู้ขอจะต้องยื่นแบบพิมพ์ดังกล่าวพร้อมกับการยื่นขอรับสิทธิบัตร แต่

ถ้าไม่สามารถยื่นพร้อมกับคำขอได้ ก็อาจขอผ่อนผันได้ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกขอผ่อนผันได้เป็น

เวลา 90 วัน และครั้งที่สองขอผ่อนผันได้อีก 30 วัน โดยต้องยื่นขอผ่อนผันก่อนสิ้นกำหนด

ระยะเวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน

ข. ข้อถือสิทธิ

เป็นส่วนที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรระบุถึงขอบเขตการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่

ต้องการได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากลักษณะของการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่

ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนกับการประดิษฐ์ กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ขอระบุ

ข้อถือสิทธิเพียงข้อเดียวเท่านั้น

ข้อถือสิทธิจะต้องระบุถึงลักษณะของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผู้ขอประสงค์จะได้รับความ

คุ้มครองโดยชัดแจ้ง กล่าวคือ ผู้ขอต้องการที่จะได้รับความคุ้มครองในรูปร่างลักษณะ

หรือลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์โดยทั่วไปแล้วผู้ขอจะอ้างถึงลักษณะ

ที่แสดงในภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ เช่น

“ข้อถือสิทธิในรูปร่างลักษณะและลวดลายของเหยื่อใส่น้ำตามที่แสดงในภาพ

แสดงแบบผลิตภัณฑ์”

ค. ภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์

ได้แก่ภาพที่แสดงถึงรายละเอียดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับความ

คุ้มครอง เทียบได้รับรายละเอียดการประดิษฐ์ในคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ กล่าวคือ

มุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของสิ่งที่ต้องการได้รับความคุ้มครองดังนั้น

ภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ จึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในคำขอรับสิทธิบัตร

การออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งผู้ขอจะต้องยื่นพร้อมกับแบบพิมพ์คำขอทุกกรณี

ภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ต้องแสดงรูปร่าง ลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์

อันเป็นสาระสำคัญทั้งหมดที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครองโดยจะแสดงเป็นรูปเขียน

(Drawing) หรือภาพถ่าย (Photographs) ก็ได้ โดยปกติภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ต้อง

เป็นภาพขาวดำเว้นแต่เป็นการขอรับความคุ้มครองในสีของผลิตภัณฑ์ ในกรณีเช่นนี้

ภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ต้องแสดงสีด้วย ข้อสำคัญคือ ต้องแสดงถึงลักษณะที่ต้องการได้

รับความคุ้มครองทั้งหมด เช่น ถ้าเป็นการขอรับความคุ้มครองสำหรับรูปร่างลักษณะ

ต้องแสดงรูปด้านต่างๆ และทัศนียภาพ (Perspective View) ของผลิตภัณฑ์นั้นด้วย

ง. คำพรรณนาแบบผลิตภัณฑ์ (ถ้ามี)

ใช้ในกรณีที่ผู้ขอประสงค์จะชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม

เพื่อให้เจ้าที่หรือบุคคลอื่นเข้าใจแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ดีขึ้น

กฏหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้ขอยื่นคำพรรณาแบบผลิตภัณฑ์

เนื่องจากการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์

ซึ่งปกติอาจแสดงให้เห็นได้โดยละเอียดและชัดเจนโดยภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว

แต่ถ้าหากผู้ขอประสงค์ที่จะยื่นคำพรรณาแบบผลิตภัณฑ์เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น

ก็ควรเขียนเพียงสั้นๆ คือไม่ควรเกิน 100 คำ

การยื่นคำขอรับสิทธิบัตร

เมื่อเตรียมคำขอรับสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอจะต้องยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนั้น

พร้อมชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับสิทธิบัตร( 1,000 บาท) ซึ่งอาจทำได้ 3 วิธีคือ

    1. นำคำขอไปยื่นตรงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

กระทรวงพาณิชย์ ชำระค่าธรรมเนียมเป็นเงินสด หรือ

    1. ส่งคำขอดังกล่าวโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ถึง พนักงานเจ้าหน้าที่

ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด

ชำระค่าธรรมเนียมโดยสั่งจ่ายเป็นธนาณัติ

ขั้นตอนการพิจารณาออกสิทธิบัตร

เมื่อผู้ขอยื่นคำขอสิทธิบัตรแล้ว การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว

ทั้งที่เป็นส่วนที่พนักงานดำเนินการ และส่วนที่ผู้ขอหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ

จะต้องดำเนินการมีดังต่อไปนี้

    1. การตรวจสอบเบื้องต้น

เมื่อผู้ขอยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแล้ว เจ้าหน้าที่จะตรวจดูว่าคำขอนั้นมีส่วนประกอบ

หรือเอกสารครบถ้วนหรือไม่ และผู้ขอได้ชำระค่าธรรมเนียมถูกต้องหรือไม่

ถ้าไม่ถูกต้องก็จะให้ผู้ขอดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หลังจากนั้น

จึงจะทำการตรวจสอบเบื้องต้นอันเป็นการตรวจดูว่าส่วนประกอบคำขอแต่ละส่วนถูกต้อง

หรือไม่ การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรนั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ต้องห้าม

มิให้ขอรับสิทธิบัตรหรือไม่ และผู้ขอรับสิทธิบัตรเป็นผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรหรือไม่

ถ้าพบว่าคำขอมีข้อบกพร่อง เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม

ซึ่งผู้ขอจะต้องดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดโดยใช้แบบพิมพ์ที่กรม

ทรัพย์สินทางปัญญากำหนดและจัดพิมพ์ขึ้น คือ แบบ สป/สผ/002-ก

    1. การประกาศโฆษณาคำขอ

หลังจากผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการประกาศ

โฆษณาคำขอ โดยแจ้งให้ผู้ขอส่งแม่พิมพ์รูปเขียน หรือภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์

และชำระค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณาภายใน 90 วัน

ค่าธรรมเนียมประกาศโฆษณาจำนวน 500 บาท

ค่าธรรมเนียมดังกล่าวขอลดและยกเว้นได้ในกรณีเช่นเดียวกับค่าธรรมเนียม

คำขอรับสิทธิบัตรการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ

ประการแรก เมื่อให้ผู้ที่มีสิทธิดีกว่าผู้อื่นยื่นคำขอหรือเห็นว่าผู้ขอไม่มีสิทธิมา

ยื่นคำคัดค้านและประการที่ 2 เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการให้ข้อมูล

หรือหลักฐานแก่เจ้าหน้าที่ในการพิจารณาออกสิทธิบัตร

    1. การคัดค้าน

เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาคำขอแล้ว บุคคลใดที่เห็นว่าตนมีสิทธิขอ

รับสิทธิบัตรดีกว่าผู้ขอ หรือเห็นว่าการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์

ไม่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นสิ่งที่กฎหมายห้ามไม่ให้ขอรับสิทธิบัตร

หรือผู้ขอไม่มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรมีสิทธิยื่นคำคัดค้านต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศโฆษณา โดยใช้แบบพิมพ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

กำหนดและจัดพิมพ์ขึ้น คือ สป/สผ005/ค ผู้คัดค้านจะต้องเสียค่าธรรมเนียมคำคัดค้าน

1,000 บาท

พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอ ผู้ขอจะต้องยื่นคำโต้แย้งเพื่อชี้แจง

เหตุผลหรือแสดงหลักฐานหักล้างคำคัดค้านภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับ

สำเนาคำคัดค้านถ้าผู้ขอไม่ยื่นคำโต้แย้งภายในกำหนดดังกล่าว กฎหมายถือว่า

ผู้ขอละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตรนั้น หลังจากนั้น ผู้คัดค้านจะนำพยานหลักฐาน

มาแสดงหรือแถลงเพิ่มเติมก็ได้ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันยื่นคำคัดค้านหรือ

ผู้ขอจะนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือแถลงเพิ่มเติมก็ได้ภายในระยะเวลา 15 วัน

นับแต่วันยื่นคำโต้แย้ง อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า

คำคัดค้านมีเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ เมื่ออธิบดีมีคำวินิจฉัย

หรือคำสั่งอย่างไร พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง

นั้นไปยังผู้คัดค้านและผู้ขอพร้อมด้วยเหตุผล ผู้ขอหรือผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์

คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ภายใน 60 วัน

นับแต่วันได้รับคำสั่งวินิจฉัยพร้อมชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

    1. การตรวจสอบการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์

เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรแล้ว

เจ้าหน้าที่จะดำเนินการพิจารณาว่าการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์

ที่ขอรับสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ การพิจารณา

ดักล่าวเรียกว่า “การตรวจสอบการประดิษฐ์” หรือ “การตรวจสอบการออกแบบผลิตภัณฑ์”

แล้วแต่กรณีขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ และการตรวจสอบการออกแบบผลิตภัณฑ์

ตามกฎหมายมีความแตกต่างกัน คือ ในกรณีที่เป็นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบการประดิษฐ์ก็ต่อเมื่อผู้ขอได้ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการ

ประดิษฐ์โดยใช้แบบพิมพ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนดและจัดพิมพ์ขึ้น คือ แบบ

สป/สผ003-ก ภายใน 5 ปี นับแต่วันประกาศโฆษณา หรือ 1 ปี

นับแต่วันที่คำวินิจฉัยถึงที่สุด ในกรณีที่มีการคัดค้านแล้วแต่ระยะเวลาใด

จะสิ้นสุดลงทีหลัง ผู้ขอจะต้องชำระค่าธรรมเนียมคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์

จำนวน 500 บาท ค่าธรรมเนียมดังกล่าวขอลดและยกเว้นได้ในกรณีเช่นเดียวกับ

ค่าธรรมเนียมคำขอรับสิทธิบัตร แต่ในกรณีที่เป็นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบ

ผลิตภัณฑ์ ผู้ขอไม่ต้องยื่นคำขอให้ตรวจสอบแต่ประการใดในการตรวจสอบ

การประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบกับรายละเอียด

ในเอกสารสิทธิบัตรของไทยและของต่างประเทศที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

มีอยู่ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบดังกล่าว อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ขอให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การของรัฐ หรือสำนักงาน

หรือองค์การสิทธิบัตรต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ทำการตรวจสอบ

ดังกล่าวให้ได้ ในปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขอให้

สำนักงานสิทธิบัตรแห่งออสเตรเลีย และสำนักงานสิทธิบัตรแห่งยุโรป

ทำการตรวจสอบการประดิษฐ์ให้หากผู้ขอเป็นคนไทยโดยไม่ต้อง

เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ แต่ถ้าหากผู้ขอเป็นคนต่างประเทศ

และกรมทรัพย์สินทางปัญญาส่งไปตรวจสอบที่ออสเตรเลียผู้ขอจะต้องเสียค่าใช้จ่าย

ในการตรวจสอบดังกล่าว

    1. การรับจดทะเบียนและการออกสิทธิบัตร

หลังจากการตรวจสอบการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์แล้ว

เจ้าหน้าที่จะเสนอรายงานการตรวจสอบต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ถ้าอธิบดีเห็นสมควรออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอโดยไม่มีการคัดค้าน

หรือมีการคัดค้านแต่อธิบดีเห็นว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับสิทธิบัตรตามกฎหมาย อธิบดี

จะสั่งให้รับจดทะเบียนการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์และออกสิทธิบัตร

ให้แก่ผู้ขอ เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอชำระค่าธรรมเนียมการออกสิทธิบัตร

จำนวน 1,000 บาท ซึ่งผู้ขอจะต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวภายใน 60 วัน

นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง มิฉะนั้นกฎหมายจะถือว่าผู้ขอละทิ้งคำขอ เมื่อได้ชำระ

ค่าธรรมเนียมแล้ว เจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอภายใน 15 วัน

แต่ถ้าอธิบดีเห็นว่าการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตร

ไม่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดหรือผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร

ก็จะสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรนั้น

    1. การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดี

เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีคำสั่งให้รับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้

ขอหรือมีคำสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตร หรือวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีสิทธิขอรับสิทธิบัตร

ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร ภายใน 60 วัน

นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าว

ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าวถือว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีเป็นที่สุด

และเมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยประการใดแล้ว

ถ้าคู่กรณีไม่เห็นด้วยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อไปยังศาลได้ภายใน 60 วัน

นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ถ้าไม่ดำเนินการดังกล่าวถือว่าคำวินิจฉัย

ของคณะกรรมการสิทธิบัตรเป็นที่สุด

ตัวอย่างหนังสือสัญญาโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตร

หนังสือสัญญาโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตร

เขียนที่ เลขที่ 140/2 ถนนวรจักร

เขตป้อมปราบ กทม. 10110

วันที่ 1 เมษายน 2531

สัญญาระหว่างผู้โอน คือ นายตรี เก่งประดิษฐ์ อยู่บ้านเลขที่ 140/2 ถนนวรจักร

เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร 10110 และผู้รับโอน คือ นายโ ท เก่งค้า อยู่บ้านเลขที่

ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500

โดยสัญญานี้ ผู้โอนซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์พัดลมไฟฟ้า โอนสิทธิในการประดิษฐ์ดังกล่าวซึ่ง

รวมถึงสิทธิขอรับสิทธิบัตรและสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้โอน โดยผู้รับโอนได้จ่ายค่าตอบ

แทนที่เหมาะสมให้แก่ผู้โอน

เพื่อเป็นพยานหลักฐานแห่งการนี้ ผู้โอนและผู้รับโอนได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างนี้

(ลงชื่อ) นายตรี เก่งประดิษฐ์ ผู้โอน

(นายตรี เก่งประดิษฐ์)

(ลงชื่อ) โท เก่งค้า ผู้รับโอน

(นายโท เก่งค้า)

(ลงชื่อ) เอก เก่งเขียน พยาน

(นายเอก เก่งเขียน)

(ลงชื่อ) จัตวา เก่งคัด พยาน

(นายจัตวา เก่งคัด)

ตัวอย่างหนังสือสัญญามอบอำนาจ

หนังสือสัญญามอบอำนาจ

เขียนที่ เลขที่ 35/15 ถนนสีลม เขตบางรัก

กทม. 10500

วันที่ 1 เมษายน 2531

โดยหนังสือนี้ ข้าพเจ้า นายโท เก่งค้า อยู่บ้านเลขที่ 35/10 ถนนสีลม เขตบางรัก

กรุงเทพมหานคร 10500 ขอมอบอำนาจและแต่งตั้งให้นายปัญจะ ถนัดอักษร

แห่งสำนักงานกฎหมายเกษมผดุงธรรม เลขที่ 108/2 ถนนอัษฎางค์เขตพระนคร

กรุงเทพมหานคร 10200

เป็นตัวแทนและผู้รับมอบอำนาจของข้าพเจ้าที่แท้จริงและชอบด้วยกฎหมายในการยื่นขอ

รับสิทธิบัตร และดำเนินการเพื่อให้ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับ

การประดิษฐ์พัดลมไฟฟ้าโดยให้ตัวแทนดังกล่าวมีสิทธิลงชื่อในเอกสารทั้งมวล

ในนามของข้าพเจ้าแทนข้าพเจ้า แก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารคำขอและเอกสารอื่นๆ

ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการอุทธรณ์ต่างๆ ด้วย

(ลงชื่อ) โท เก่งค้า ผู้มอบอำนาจ

(นาย โท เก่งค้า)

(ลงชื่อ) ปัญจะ ถนัดอักษร ผู้รับมอบอำนาจ

(นายปัญจะ ถนัดอักษร)

(ลงชื่อ) เอก เก่งเขียน พยาน

(นายเอก เก่งเขียน)

(ลงชื่อ) จัตวา เก่งคัด พยาน

(นายจัตวา เก่งคัด)

Scroll to Top