ร่างพระราชบัญญัติ
องค์กรบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดง
พ.ศ. ….
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดง
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
…………………………………………………………………………………………………………………………
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติองค์กรบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดง พ.ศ. ….”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ[1] ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“องค์กรจัดเก็บ” หมายความว่า องค์กรซึ่ง ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ให้ดำเนินการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดง[2] แทนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์หรือผู้มีสิทธินั้นตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
“ลิขสิทธิ์” หมายความว่า ลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
“สิทธินักแสดง” หมายความว่า สิทธิของนักแสดงตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
“เจ้าของสิทธิ” หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธินักแสดง และรวมถึงผู้ซึ่งได้รับสิทธิดังกล่าวโดยชอบโดยการอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือการโอนสิทธิด้วย[3]
“ค่าตอบแทน” หมายความว่า ค่าตอบแทนสำหรับการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธินักแสดงของเจ้าของสิทธิ
“ใบอนุญาต” หมายความว่า หนังสือซึ่งออกให้แก่บุคคลหรือคณะบุคคลเพื่ออนุญาตให้ดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ [4]
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการลิขสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ [5]
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมาย
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดการอื่น เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
การขออนุญาตดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บ
_______________
มาตรา ๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๗ ผู้ประสงค์จะดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
ผู้มีสิทธิยื่นคำขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) เป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคลที่มิได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแสวงหากำไรอย่างอื่นนอกจากค่าบริการเพื่อการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดงแทนเจ้าของสิทธ
(๒) มีเจ้าของสิทธิเป็นสมาชิกโดยมอบหมายให้นิติบุคคลหรือคณะบุคคลนั้น [6] บริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์หรือสิทธินักแสดงแทนตน จำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ การมอบหมายดังกล่าวต้องมิใช่เป็นการมอบหมายให้กระทำแทนเป็นการเฉพาะคราว
(๓) มีสถานะทางการเงินที่น่าเชื่อถือได้
(๔) มีคุณสมบัติอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การขออนุญาตและเอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นประกอบคำขออนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖ เมื่อได้รับคำขออนุญาตตามมาตรา ๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอให้ถูกต้อง และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดี
ในกรณีที่คำขออนุญาตไม่เป็นไปตามมาตรา ๕ ให้อธิบดีมีคำสั่งไม่อนุญาตและแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า[7] แต่ในกรณีที่คำขออนุญาตเป็นไปตามมาตรา ๕ ให้อธิบดีพิจารณาเลือกผู้ขออนุญาตที่มีความเหมาะสมมากที่สุดเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๗
มาตรา ๗ ในการอนุญาตให้ดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บ ให้มีองค์กรจัดเก็บเพียงองค์กรเดียว [8] สำหรับงานอันมีลิขสิทธิ์แต่ละประเภทหรือสำหรับสิทธินักแสดง ในการนี้ ให้อธิบดีพิจารณาสั่งอนุญาตให้ผู้ขอที่มีความเหมาะสมมากที่สุดดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บสำหรับงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทนั้นหรือสำหรับสิทธินักแสดง และแจ้งคำสั่งให้ผู้ยื่นคำขอที่เกี่ยวข้องทราบ
ให้อธิบดีออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งเมื่อผู้ได้รับอนุญาตได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว และให้บันทึกการได้รับอนุญาตไว้ในทะเบียน
มาตรา ๘ สิทธิและหน้าที่ขององค์กรจัดเก็บตามหมวด 2พระราชบัญญัตินี้ [9] เริ่มตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต
ใบอนุญาตให้มีอายุห้าปี [10] นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต [11] ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้องค์กรจัดเก็บขอรับใบแทนได้
ในกรณีที่องค์กรจัดเก็บประสงค์จะต่อใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต [12] ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้องค์กรจัดเก็บยังมีสิทธิและหน้าที่ตามหมวด2พระราชบัญญัตินี้ [13] อยู่จนกว่าอธิบดีจะมีคำสั่งไม่อนุญาต
การขอรับใบแทนและการขอต่ออายุใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๙ ในการพิจารณาคำขอ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และอธิบดีมีอำนาจมีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้ขอมาให้ถ้อยคำหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวข้อง หรือเชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำหรือความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณา
[14]มาตรา ๑๐ ผู้ขออนุญาตซึ่งมิได้รับอนุญาตให้ดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา ๖ วรรคสอง หรือมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี
การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยแล้ว ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น ถ้าไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด
หมวด ๒
สิทธิและหน้าที่ทั่วไปขององค์กรจัดเก็บ
_______________
มาตรา ๑๑ องค์กรจัดเก็บมีสิทธิจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ หรือการใช้สิทธินักแสดงแทนเจ้าของสิทธิ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน [15] ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ (เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น) [16]
ในกรณีงานวรรณกรรม ให้องค์กรจัดเก็บมีสิทธิจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิแทนเจ้าของสิทธิได้เฉพาะในส่วนของสิทธิทำซ้ำ หรือดัดแปลง[17]
ให้องค์กรจัดเก็บมีสิทธิทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือสัญญาโอนสิทธิ[18]แทนเจ้าของสิทธิ เว้นแต่จะรู้ว่าขัดต่อความประสงค์ของเจ้าของสิทธิ [19]
มาตรา ๑๒ การจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิหรือการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือโอนสิทธิโดยองค์กรจัดเก็บตามมาตรา ๑๑ มีผลผูกพันเจ้าของสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสิทธิที่เป็นสมาชิกองค์กรจัดเก็บหรือไม่ และผู้ใช้สิทธิหรือผู้รับโอนสิทธิไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้[20] แก่เจ้าของสิทธิอีก
มาตรา ๑๓ ในกรณีที่เจ้าของสิทธิไม่ประสงค์ให้องค์กรจัดเก็บดำเนินการจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิหรือทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือสัญญาโอนสิทธิแทนเจ้าของสิทธิ ให้เจ้าของสิทธิแจ้งความประสงค์ดังกล่าวให้องค์กรจัดเก็บทราบหรือบอกกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ [21] เพื่อแจ้งไปยังองค์กรจัดเก็บต่อไป ในกรณีนี้ องค์กรจัดเก็บไม่อาจใช้สิทธิตามมาตรา ๑๑ แทนเจ้าของสิทธิรายนั้น
ความในวรรคหนึ่งไม่กระทบกระเทือนต่อการจัดเก็บค่าตอบแทนหรือการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือสัญญาโอนสิทธิที่องค์กรจัดเก็บได้กระทำไปก่อนได้รับแจ้ง
[22]มาตรา ๑๔ ในกรณีที่องค์กรจัดเก็บยังไม่ใช้สิทธิแทนเจ้าของสิทธิตามมาตรา ๑๑ สิทธิขององค์กรจัดเก็บไม่เป็นการตัดสิทธิของเจ้าของสิทธิในการดำเนินการเอง ไม่ว่าจะมีการแจ้งตามมาตรา ๑๓ หรือไม่
มาตรา ๑๕ เมื่อได้จัดเก็บค่าตอบแทนจากผู้ใช้สิทธิแล้ว ให้จัดสรรค่าตอบแทนให้แก่บรรดาเจ้าของสิทธิอย่างเป็นธรรมโดยไม่ชักช้า [23] ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารการจัดเก็บค่าตอบแทนและอัตราค่าตอบแทนที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบตามหมวด ๓
มาตรา ๑๖ รายได้ขององค์กรจัดเก็บที่ได้มาจากค่าบริการในการจัดเก็บ ให้ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร [24]
หมวด ๓
การบริหารองค์กรจัดเก็บ
_______________
มาตรา ๑๗ ให้องค์กรจัดเก็บจัดทำข้อบังคับขององค์กร รวมทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการบริหารและผู้แทนในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
ในกรณีที่องค์กรจัดเก็บเป็นนิติบุคคลและมีข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการบริหารอยู่แล้วในขณะที่ได้รับใบอนุญาต ให้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้กรรมการบริหารขององค์กรจัดเก็บมาจากสมาชิกในสัดส่วนที่เหมาะสมด้วย
มาตรา ๑๘ ให้องค์กรจัดเก็บจัดทำทะเบียนสมาชิกและส่งสำเนาให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
ทะเบียนสมาชิกตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ สัญชาติ และที่อยู่ของสมาชิก
(๒) วันที่เข้าเป็นสมาชิก
(๓) ชื่อ ประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ของสมาชิก
(๔) รายละเอียดผลงานของสมาชิก
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนสมาชิกตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น
มาตรา ๑๙ ให้องค์กรจัดเก็บจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนที่จัดเก็บจากผู้ใช้สิทธิและที่จัดสรรให้เจ้าของสิทธิ เพื่อให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
ให้มีกองทุนบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดง เพื่อจ่ายเงินค่าสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกที่ต้องอันตรายแก่กายหรือเสียชีวิต โดยรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามกฎกระทรวง [25]
มาตรา ๒๐ ในการจัดเก็บค่าตอบแทนจากผู้ใช้สิทธิและจัดสรรค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของสิทธิ ให้คำนึงถึงพฤติการณ์ทั้งปวงรวมทั้งจำนวนครั้งที่ใช้งานหรือการแสดง ความนิยม ความเหมาะสม ความเป็นธรรม และความสำคัญทางวัฒนธรรมของงานหรือการแสดงในเวลาที่ใช้งานหรือการแสดงนั้น
หมวด ๔
การกำกับดูแลองค์กรจัดเก็บ
_______________
มาตรา ๒๑ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลองค์กรจัดเก็บ ให้องค์กรจัดเก็บจัดมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ทำและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดงที่จะมีหรือได้มีการจัดเก็บหรือดำเนินการตามมาตรา ๑๑ และเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่ผู้ร้องขอ โดยให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ร้องขอได้
(๒) จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินการจัดเก็บค่าตอบแทนและการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและตรวจสอบได้ และส่งสำเนารายงานประจำปีต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของทุกปี
(๓) จัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชี และจัดให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของทุกปี
มาตรา ๒๒ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินผลการดำเนินการขององค์กรจัดเก็บ แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๒๓
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ปรากฏจากรายงานของผู้สอบบัญชีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าองค์กรจัดเก็บกระทำการไม่ถูกต้องในการดำเนินกิจการจนทำให้เกิดความเสียหาย หรือมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินหรือการบัญชี ถ้าอธิบดีเห็นว่าการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายหรือข้อบกพร่องนั้นอาจแก้ไขได้ อธิบดีอาจสั่งให้แก้ไขการกระทำหรือข้อบกพร่องนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด หากองค์กรจัดเก็บไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาดังกล่าว อธิบดีอาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ และแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้องค์กรจัดเก็บทราบ
มาตรา ๒๔ ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าองค์กรจัดเก็บมิได้ดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต หรือหยุดกิจการติดต่อกันเป็นเวลาสองปี อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตและแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้องค์กรจัดเก็บนั้นทราบ
มาตรา ๒๕ คำสั่งของอธิบดีตามมาตรา ๒๓ หรือมาตรา ๒๔ ที่สั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ให้องค์กรจัดเก็บอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยแล้ว ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น ถ้าไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด
มาตรา ๒๖ บุคคลใดอาจขอตรวจเอกสารเกี่ยวกับองค์กรจัดเก็บที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเก็บรักษาไว้ และอาจขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวพร้อมคำรับรองสำเนาถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียมได้
หมวด ๕
การระงับข้อพิพาท
_______________
มาตรา ๒๗ ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าตอบแทนระหว่างองค์กรจัดเก็บและผู้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธินักแสดงที่องค์กรจัดเก็บดำเนินการจัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้และไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อพิพาทนั้นให้คณะอนุญาโตตุลาการตามหมวดนี้เป็นผู้ชี้ขาด โดยยื่นคำขอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา
มาตรา ๒๘ คณะอนุญาโตตุลาการประกอบด้วยผู้ชี้ขาดคนหนึ่งซึ่งอธิบดีแต่งตั้ง เป็นประธาน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์อีกสองคนซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งฝ่ายละหนึ่งคน
หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
_______________
มาตรา ๒๙ ผู้ใดดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๐ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๓๑ ผู้ดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บผู้ใดดำเนินการจัดเก็บค่าตอบแทนหรือทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือสัญญาโอนสิทธิแทนเจ้าของสิทธิโดยรู้ว่าเจ้าของสิทธิไม่ประสงค์จะให้องค์กรจัดเก็บนั้นดำเนินการแทนเจ้าของสิทธิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา ๓๒ ผู้ดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บผู้ใดจัดเก็บค่าตอบแทนจากผู้ใช้สิทธิโดยไม่จัดสรรค่าตอบแทนให้แก่บรรดาเจ้าของสิทธิอย่างเป็นธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๓ ผู้ดำเนินการเป็นองค์กรจัดเก็บผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๓๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น