หมวด ๒ สิทธิบัตรการประดิษฐ์
ส่วนที่ ๑ การขอรับสิทธิบัตร
มาตรา ๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๙ การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบ ด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
(๒) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ
(๓) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม
มาตรา ๖ การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว
งานที่ปรากฏอยู่แล้ว ให้หมายความถึงการประดิษฐ์ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
(๒) การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสาร หรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และ ไม่ว่าการเปิดเผยนั้นจะกระทำโดยเอกสาร สิ่งพิมพ์ การนำออกแสดง หรือการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ
(๓) การประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรแล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
(๔) การประดิษฐ์ที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้วนอกราชอาณาจักรเป็นเวลาเกินสิบแปดเดือน ก่อนวันขอรับสิทธิบัตรแต่ยังมิได้มีการออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรให้
(๕) การประดิษฐ์ที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร และได้ประกาศโฆษณาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร
การเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลมาจากการ กระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย หรือการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดโดยผู้ประดิษฐ์ รวมทั้งการแสดงผลงานของผู้ประดิษฐ์ในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ หรือในงานแสดงต่อสาธารณชนของทางราชการและการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดดังกล่าวได้
กระทำภายในสิบสองเดือนก่อนที่จะมีการขอรับสิทธิบัตร มิให้ถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระ สำคัญหรือรายละเอียดตาม (๒)
มาตรา ๗ การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น
มาตรา ๘ การประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ได้แก่ การ ประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรม
มาตรา ๙ การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ
(๑) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตาม ธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช
(๒) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
(๓) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
(๔) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์
(๕) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน
มาตรา ๑๐ ผู้ประดิษฐ์เป็นผู้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร และมีสิทธิที่จะได้รับการระบุชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ในสิทธิบัตร
สิทธิขอรับสิทธิบัตรย่อมโอนและรับมรดกกันได้
การโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตรต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและ ผู้รับโอน
มาตรา ๑๑ สิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ซึ่งลูกจ้างได้ประดิษฐ์ขึ้น โดยการทำงานตามสัญญาจ้างหรือโดยสัญญาจ้างที่มีวัตถุประสงค์ให้ทำการประดิษฐ์ ย่อมตกได้แก่นายจ้างเว้นแต่สัญญาจ้างจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น
ความในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ลูกจ้างที่ทำการประดิษฐ์สิ่ง หนึ่งสิ่งใดด้วยการใช้วิธีการ สถิติหรือรายงานซึ่งลูกจ้างสามารถใช้หรือล่วงรู้ได้เพราะการเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างนั้นแม้ว่าสัญญาจ้างจะมิได้เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
มาตรา ๑๒ เพื่อส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์และเพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างในกรณีที่การประดิษฐ์ของลูกจ้างตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างได้รับประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือนำสิ่งประดิษฐ์นั้นไปใช้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับบำเหน็จพิเศษจากนายจ้างนอกเหนือจากค่าจ้างตามปกติได้
ให้ลูกจ้างที่ทำการประดิษฐ์ตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง มีสิทธิได้รับ บำเหน็จพิเศษจากนายจ้าง
สิทธิที่จะได้รับบำเหน็จพิเศษจะถูกตัดโดยสัญญาจ้างหาได้ไม่
การขอรับสิทธิตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ยื่นต่ออธิบดีตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดบำเหน็จพิเศษ ให้แก่ลูกจ้างตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงค่าจ้าง ความสำคัญในการประดิษฐ์ ประโยชน์ ที่นายจ้างได้รับหรือจะได้รับจากการประดิษฐ์ดังกล่าว และเงื่อนไขอื่นตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง
มาตรา ๑๓ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการประดิษฐ์ของข้าราชการ หรือพนักงานองค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ให้ถือว่าข้าราชการ หรือพนักงานองค์การของรัฐหรือ รัฐวิสาหกิจมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างตามความในมาตรา ๑๒ เว้นแต่ระเบียบของทางราชการหรือองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๔ บุคคลซึ่งจะขอรับสิทธิบัตรได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
(๒) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
(๓) มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ ตั้งอยู่ในประเทศไทยขอรับสิทธิบัตรในประเทศนั้นได้
(๔) มีภูมิลำเนา หรืออยู่ในระหว่างการประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างแท้จริงและจริงจังในประเทศไทย หรือประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
มาตรา ๑๕ ถ้ามีบุคคลหลายคนทำการประดิษฐ์ร่วมกัน บุคคลเหล่านั้นมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรร่วมกัน
ในกรณีผู้ประดิษฐ์ร่วมคนใดไม่ยอมร่วมขอรับสิทธิบัตร หรือติดต่อ ไม่ได้ หรือไม่มีสิทธิขอรับสิทธิบัตร ผู้ประดิษฐ์คนอื่นจะขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ที่ได้ทำร่วมกันนั้นในนามของตนเองก็ได้
ผู้ประดิษฐ์ร่วมซึ่งไม่ได้ร่วมขอรับสิทธิบัตรจะขอเข้าเป็นผู้ร่วมขอรับสิทธิบัตรเมื่อใดก็ได้ก่อนมีการออกสิทธิบัตร เมื่อได้รับคำขอแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งกำหนดวันสอบสวนไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตร ในการนี้ให้ส่งสำเนาคำขอไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้ร่วมขอรับสิทธิบัตรคนอื่นด้วย
ในการสอบสวนตามวรรคสาม พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกผู้ขอรับ สิทธิบัตรและผู้ร่วมขอรับสิทธิบัตร มาให้ถ้อยคำชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือสิ่งใดเพิ่มเติม ก็ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสอบสวนและอธิบดีได้วินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้ร่วมขอรับสิทธิบัตร
มาตรา ๑๖ ในกรณีบุคคลหลายคนต่างทำการประดิษฐ์อย่างเดียวกันโดยไม่ได้ร่วมกัน ให้บุคคลซึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้ก่อนเป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิบัตร ถ้ายื่นคำขอรับสิทธิบัตร ในวันเดียวกัน ให้ทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้คู่กรณีนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดดังกล่าว ให้ถือว่า บุคคลเหล่านั้นละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร
มาตรา ๑๗ การขอรับสิทธิบัตรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
คำขอรับสิทธิบัตรให้มีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
(๒) ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
(๓) รายละเอียดการประดิษฐ์ที่มีข้อความสมบูรณ์ รัดกุม และชัดแจ้ง อันจะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องสามารถทำและปฏิบัติการตามการประดิษฐ์นั้นได้ และต้องระบุวิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุดที่ผู้ประดิษฐ์จะพึงทราบได้
(๔) ข้อถือสิทธิโดยชัดแจ้ง
(๕) รายการอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิบัตร หากคำขอรับสิทธิบัตรเป็นไปตามที่กำหนดในความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว ให้ถือว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขอรับสิทธิบัตรตาม พระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๘ คำขอรับสิทธิบัตรแต่ละฉบับ ให้ขอได้เฉพาะการประดิษฐ์อย่างเดียว คำขอรับสิทธิบัตรเพื่อการประดิษฐ์หลายอย่างในคำขอฉบับเดียวกัน จะกระทำได้ต่อเมื่อการประดิษฐ์หลายอย่างนั้นมีความเกี่ยวพันอันอาจถือได้ว่าเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกัน
มาตรา ๑๙ บุคคลใดแสดงการประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์ในงานแสดงต่อสาธารณชน ซึ่งหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดหรืออนุญาตให้มีขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นภายในสิบสองเดือนนับแต่วันเปิดงานแสดงต่อสาธารณชน ให้ถือว่า ได้ยื่นคำขอนั้นในวันเปิดงานแสดงนั้น
มาตรา ๑๙ ทวิ บุคคลตามมาตรา ๑๔ ที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการ ประดิษฐ์ไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นใน ราชอาณาจักรภายในสิบสองเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรเป็น ครั้งแรก บุคคลนั้นจะขอให้ระบุว่าวันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกเป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้
มาตรา ๒๐ ผู้ขอรับสิทธิบัตรอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตรได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นต้องไม่เป็นการเพิ่มเติมสาระสำคัญของการประดิษฐ์
มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการขอรับสิทธิบัตรเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์ หรือยอมให้บุคคลใดตรวจหรือคัดสำเนารายละเอียดการประดิษฐ์ ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ก่อนมีการประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ เว้นแต่จะได้รับความยินยอม เป็นหนังสือจากผู้ขอรับสิทธิบัตร
มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้อยู่ว่าการประดิษฐ์นั้นได้มีผู้ยื่นคำขอรับ สิทธิบัตรไว้แล้วเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ หรือกระทำโดยประการอื่นที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขอรับสิทธิบัตร ก่อนมีการประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ขอรับสิทธิบัตร
มาตรา ๒๓ ในกรณีอธิบดีเห็นว่าการประดิษฐ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรใดเป็นการประดิษฐ์ ที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับเพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ปกปิดสาระสำคัญและรายละเอียดการประดิษฐ์นั้นไว้เป็นความลับ จนกว่าจะสั่งเป็นอย่างอื่น
ห้ามมิให้บุคคลใดรวมทั้งผู้ขอรับสิทธิบัตรเปิดเผยสาระสำคัญหรือ รายละเอียดการประดิษฐ์ โดยรู้อยู่ว่าอธิบดีได้สั่งให้ปกปิดไว้เป็นความลับตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ จะมีอำนาจทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย