หมวด ๕ เบ็ดเตล็ด
มาตรา ๗๕ ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งไม่มีสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ใช้คำว่า “สิทธิบัตรไทย” “อนุสิทธิบัตรไทย” หรืออักษร สบท. หรือ อสบท. หรืออักษร ต่างประเทศที่มีความหมายเช่นเดียวกัน หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันให้ปรากฏที่ผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือในการโฆษณาการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใด ๆ
มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้คำว่า “รอรับสิทธิบัตร” หรือ “รอรับ อนุสิทธิบัตร” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ให้ปรากฏที่ผลิตภัณฑ์ ภาชนะ บรรจุหรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือในการโฆษณาการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ใด ๆ เว้นแต่เป็นผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำขอนั้น
มาตรา ๗๗ ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรในกรรมวิธีการผลิต ผลิตภัณฑ์ ฟ้องผู้ฝ่าฝืนสิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรของตนเป็นคดีแพ่ง หากผู้ทรง สิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่จำเลยผลิต มีลักษณะเช่นเดียวกันหรือคล้ายกันกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยได้ใช้กรรมวิธีของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร เว้นแต่จำเลยจะพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๗๗ ทวิ ในกรณีที่มีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่ามีผู้กระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตาม มาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ผู้ทรงสิทธิบัตร หรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวระงับหรือละเว้นการกระทำดังกล่าว นั้นได้ การที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวไม่ตัดสิทธิผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรที่จะเรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๗๗ ตรี
มาตรา ๗๗ ตรี ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรง อนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามจำนวน ที่ศาลเห็นสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหายรวมทั้งการสูญเสียประโยชน์ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรด้วย
มาตรา ๗๗ จัตวา บรรดาสินค้าที่อยู่ในครอบครองของผู้กระทำการอันเป็น การฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือ มาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรอาจมีคำสั่งให้ทำลายสินค้าดังกล่าวหรือดำเนินการอย่างอื่นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำเอาสินค้าดังกล่าว ออกจำหน่ายอีกก็ได้
มาตรา ๗๗ เบญจ บุคคลใดขอรับหรือร่วมขอรับทั้งสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างเดียวกันโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี ให้ถือว่าบุคคลนั้นขอรับ อนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้น
มาตรา ๗๗ ฉ ในกรณีบุคคลหลายคนต่างทำการประดิษฐ์อย่างเดียวกันโดย ไม่ได้ร่วมกัน และมีบุคคลฝ่ายหนึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แต่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร
(๑) ให้บุคคลซึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือคำขอรับอนุสิทธิบัตรไว้ก่อน เป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้น
(๒) ถ้ามีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในวันเดียวกันกับการยื่นคำขอรับ อนุสิทธิบัตร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรทราบเพื่อให้ ทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน และจะให้คำขอรับ สิทธิบัตรหรือคำขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นคำขอสำหรับการประดิษฐ์นั้น ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายใน เวลาที่อธิบดีกำหนด ให้คู่กรณีนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลา ที่อธิบดีกำหนด ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตรและละทิ้งคำขอรับอนุสิทธิบัตร
มาตรา ๗๗ สัตต ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ หรือวันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ใด ผู้ขอรับอนุสิทธิบัตร ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร ผู้ขอรับสิทธิบัตร หรือผู้ทรงสิทธิบัตรผู้ใดเห็นว่าการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร สำหรับการประดิษฐ์นั้นอาจไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี เพราะการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกันกับของตน และตนได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรหรือยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้ในวันเดียวกันกับการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร หรือการยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรดังกล่าว ผู้นั้นมีสิทธิขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์นั้นได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี หรือไม่
เมื่อได้รับคำขอให้ตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบและทำรายงานการตรวจสอบเสนออธิบดี
เมื่ออธิบดีพิจารณารายงานการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสองแล้ว เห็นว่าการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นจะไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี เพราะการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกัน และวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือวันยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นวันเดียวกันกับวันยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร หรือวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรของผู้ขอให้ตรวจสอบ ให้อธิบดีแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร และผู้ขอให้ตรวจสอบทราบ เพื่อให้ทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดี กำหนด ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิร่วมกันในการประดิษฐ์นั้น
มาตรา ๗๗ อัฏฐ สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรใดได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วย มาตรา ๖๕ ตรี ให้ถือว่าสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์
ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่ง บุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้
ในกรณีการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี และได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสำหรับการ ประดิษฐ์นั้นในวันเดียวกัน ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น หรือ พนักงานอัยการอาจขอให้อธิบดีเรียกให้ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้นทำความตกลง กันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน และต้องทำความตกลงกันว่าจะเลือกให้การประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตรอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้ถือว่าผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ ทรงอนุสิทธิบัตรมีสิทธิร่วมกันและให้ถือว่าการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตร
มาตรา ๗๘ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือใบอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ใดสูญหาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้เจ้าของขอรับใบแทนสิทธิบัตร ใบแทนอนุสิทธิบัตร หรือใบแทนใบอนุญาตให้ใช้สิทธินั้นได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
มาตรา ๗๙ บรรดาคำขอ คำคัดค้าน คำโต้แย้ง และคำอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติ นี้ ให้ใช้แบบพิมพ์และมีสำเนาตามที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๘๐ บรรดาคำขอรับสิทธิบัตร คำขอรับอนุสิทธิบัตร การประกาศโฆษณา คำขอรับสิทธิบัตร คำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ คำคัดค้านการขอรับสิทธิบัตร คำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอจดทะเบียนรับโอนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอเปลี่ยนแปลงสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอต่ออายุ อนุสิทธิบัตร คำขอบันทึกคำยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ใบอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดี ใบแทนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ใบแทน ใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ คำขออื่น ๆ การคัดสำเนาเอกสารและการรับรองสำเนาเอกสาร ให้เสีย ค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง |