กฎกระทรวง
(พ.ศ. 2535)
ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 (*)
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 11 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 35 มาตรา 40มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 48 มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 54 มาตรา 57 มาตรา 59 มาตรา 68 มาตรา 71 มาตรา 72 มาตรา 80 มาตรา 81 มาตรา 86 มาตรา 92 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
หมวด 1 บททั่วไป
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
“คำขอ” หมายความว่า คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม และบรรดาคำขออื่น และให้มีความหมายรวมถึงคำคัดค้าน คำโต้แย้ง และคำร้องอื่น ๆ ด้วย
“หนังสือสำคัญ” หมายความว่า หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองและหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายร่วม
“ทะเบียน” หมายความว่า ทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายบริการ ทะเบียนเครื่องหมายรับรอง และทะเบียนเครื่องหมายร่วม
[1]ข้อ 2 บรรดาคำขอต้องใช้แบบพิมพ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดการกรอกข้อความในคำขอ ให้กรอกข้อความให้ครบถ้วนเป็นภาษาไทย โดยใช้พิมพ์ดีดหรือตีพิมพ์ และลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอนั้น
([1] ข้อ 2 แก้ไขโดยข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
การยื่นคำขอ ให้ยื่นต่อนายทะเบียน ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือหน่วยงานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงนายทะเบียน ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือโดยวิธีอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมเงินค่าธรรมเนียม เว้นแต่บทบัญญัติในข้ออื่นแห่งกฎกระทรวงฉบับนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามวรรคสาม ให้ถือว่าวันที่คำขอไปถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นวันที่ยื่นคำขอนั้น”
ข้อ 3 ในกรณีที่ต้องแนบบัตรประจำตัวประกอบคำขอ
(1) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา อาจใช้ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทางก็ได้
(2) ถ้าเป็นนิติบุคคล ให้ใช้หนังสือรับรองนิติบุคคลซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน โดยมีคำรับรองของ ผู้มีอำนาจให้คำรับรองตามกฎหมายไม่เกินหกเดือน นับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองนั้นเว้นแต่ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งได้ส่งเอกสารตามข้อ 5 โดยมีการระบุข้อความรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไว้ด้วยแล้ว
ข้อ 4 การยื่นคำขอที่กระทำโดยตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ ให้แนบภาพถ่ายหนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจ และบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจมาพร้อมกันด้วย
ข้อ 5 ในกรณีที่การตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจนั้นได้กระทำในต่างประเทศหนังสือตั้งตัวแทน หรือมอบอำนาจนั้นต้องมีคำรับรองลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนบุคคลดังกล่าว หรือมีคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้น ให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อในกรณีที่หนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งได้กระทำในประเทศไทย โดยผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมิได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้นายทะเบียนเห็นว่าในขณะตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริงด้วย
ข้อ 6 การส่งต้นฉบับเอกสารประกอบคำขอ หากเป็นการยื่นคำขอของผู้ขอรายเดียวกันพร้อมกันหลายคำขอ เอกสารประกอบคำขอแรกต้องเป็นต้นฉบับเอกสาร ส่วนคำขออื่น ๆ ให้ส่งภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวโดยระบุว่าต้นฉบับเอกสารอยู่ในคำขอเลขที่ใด
ข้อ 7 การส่งสำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารประกอบคำขอ ผู้ขอต้องรับรองความถูกต้องของสำเนาหรือภาพถ่ายนั้นด้วย
ข้อ 8 การส่งเอกสารประกอบคำขอที่เป็นภาษาต่างประเทศ ผู้ขอต้องจัดให้มีคำแปลเป็นภาษาไทย โดยมีคำรับรองของผู้แปลด้วยว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง
ข้อ 9 หนังสือสำคัญและใบแทนหนังสือสำคัญ ให้ใช้ตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้ ดังนี้
(1) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้ใช้แบบ ค.ม.1
(2) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ ให้ใช้แบบ ค.ม.2
(3) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ให้ใช้แบบ ค.ม.3
(4) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายร่วม ให้ใช้แบบ ค.ม.4
(5) ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้ใช้แบบ ค.ม.5
(6) ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้ใช้แบบ ค.ม.6
(7) ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง ให้ใช้แบบ ค.ม.7
(8) ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายร่วม ให้ใช้แบบ ค.ม.8
หมวด 2 เครื่องหมายการค้า
ส่วนที่ 1 การขอจดทะเบียน
[2]ข้อ 10 การขอจดทะเบียน ให้ผู้ขอยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสาร ดังต่อไปนี้
(1) สำเนาคำขอ จำนวน 5 ฉบับ
(2) บัตรประจำตัว
([2] ข้อ 10 แก้ไขโดย ข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543) )
[3]ข้อ 11 เครื่องหมายการค้าที่ใช้ปิดในคำขอจดทะเบียน จะต้องตีพิมพ์หรือพิมพ์โดยวิธีอื่นที่อยู่ได้คงทน ชัดเจน และมีขนาดที่จะปิดในคำขอจดทะเบียนได้
([3] ข้อ 11 วรรค 2 เพิ่มเติมโดย ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
“ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ ภาพเครื่องหมายการค้านั้นต้องแสดงรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุอันเป็นสาระสำคัญทั้งหมด ที่ประสงค์จะขอความคุ้มครองโดยจะแสดงเป็นภาพถ่ายหรือรูปเขียนก็ได้”
[4]ข้อ 11 ทวิ ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ จะส่งคำพรรณารูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุนั้นเพื่อประกอบคำขอจดทะเบียนก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยคำและต้องยื่นพร้อมคำขอจดทะเบียน”
([4] ข้อ 11 ทวิ เพิ่มเติมโดย ข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
ข้อ 12 เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศให้ระบุคำอ่านและคำแปลเป็นภาษาไทยไว้ด้วย เว้นแต่ข้อความที่เป็นภาษาต่างประเทศนั้นมิใช่กรณีที่จะจัดทำคำแปลได้ ทั้งนี้โดยจัดให้มีคำรับรองคำอ่านและคำแปลดังกล่าวว่าถูกต้องของผู้ขอมาในคำขอจดทะเบียนด้วย
[5]”ข้อ 12 ทวิ ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีความประสงค์จะขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ทวิ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนและคำขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ทวิ พร้อมแนบเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนได้นำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน นั้นออกแสดงในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ
(2)หนังสือรับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศซึ่งออกให้โดยรัฐบาลไทยในกรณีที่ รัฐบาลไทยเป็นผู้รับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศนั้น หรือหนังสือรับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศซึ่งออกให้โดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทย หรือของประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ในกรณีที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศขึ้น
(3) สำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีการยื่นไว้นอกราชอาณาจักรครั้งแรก ซึ่งมีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศนั้น (ถ้ามี)
(4) สำเนาคำแปลเอกสารตาม (1) (2) และ (3) ในกรณีที่เอกสารดังกล่าวเป็นภาษาต่างประเทศ
([5] ข้อ 12 ทวิ เพิ่มเติมโดย ข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
งานแสดงสินค้าระหว่างประเทศตามวรรคหนึ่งหมายความว่า งานที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงหรือเสนอขายสินค้าแก่ผู้เข้าร่วมชมงาน และมีผู้เข้าร่วมในการแสดงหรือเสนอขายสินค้ามาจากประเทศตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป
[6]ข้อ 12 ตรี ในกรณีที่ไม่อาจส่งเอกสารหลักฐานตามข้อ 12 ทวิ พร้อมกับคำขอจดทะเบียนได้ให้ผู้ขอจดทะเบียนทำหนังสือขอผ่อนผันตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมกับคำขอจดทะเบียนและการขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ทวิ ในกรณีนี้ให้นายทะเบียนมีอำนาจผ่อนผันได้ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาคำขอจดทะเบียนนั้นต่อไป โดยถือว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ประสงค์จะขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 ทวิ”
([6] ข้อ 12 ตรี เพิ่มเติมโดย ข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
[7]ข้อ 13 การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในคำขอจดทะเบียนให้ยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าซึ่งไม่เป็นสาระสำคัญ สำเนาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน จำนวน 5 ฉบับ
(2) ในกรณีขอแก้ไขรายการจดทะเบียนอื่น ๆ สำเนาเอกสารหลักฐานการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการนั้น ๆ จำนวนอย่างละ 1 ฉบับ
([7] ข้อ 13 (1) แก้ไขโดยข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
ข้อ 14 ในกรณีที่ผู้ขอประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ หรือต้องการเพิ่มเติมรายการสินค้าในจำพวกเดียวกัน ให้ผู้ขอยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่
[8]“ข้อ 15 การประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการโดยประกาศใน “หนังสือประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน” และประกาศโฆษณาคำขอนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์”
([8] ข้อ 15 แก้ไขโดย ข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
ข้อ 16 การประกาศโฆษณาตามข้อ 15 ให้แสดงรายการดังต่อไปนี้
(1) เลขที่คำขอและวันที่ยื่นคำขอ
(2) รูปเครื่องหมายการค้า
(3) จำพวกและรายการสินค้า
(4) ชื่อผู้ขอจดทะเบียนและตัวแทน ถ้ามี
(5) เงื่อนไขหรือข้อจำกัด ถ้ามี
(6) วันที่ประกาศโฆษณา
(7) รายการอื่น ๆ ที่นายทะเบียนเห็นสมควร
ข้อ 17 ในการประกาศโฆษณาคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนรายใดให้นายทะเบียนดำเนินการข้อ 15
ข้อ 18 การประกาศโฆษณาเพิกถอนคำสั่งตามข้อ 17 ให้แสดงรายการดังต่อไปนี้
(1) เลขที่คำขอ
(2) วันที่ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน
(3) วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอน พร้อมด้วยเหตุแห่งการเพิกถอน
(4) รายการอื่น ๆ ที่นายทะเบียนเห็นสมควร
ส่วนที่ 2 การโอนหรือการรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียน
ข้อ 19 การโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียน ให้ปฏิบัติดังนี้
(1) ในกรณีที่ผู้โอนหรือผู้รับโอนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนให้ผู้โอน หรือผู้รับโอนยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารดังต่อไปนี้
(ก) สัญญาโอนลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน
(ข)บัตรประจำตัวของผู้โอนและผู้รับโอน
(2)ในกรณีที่ผู้โอนและผู้รับโอนร่วมกันยื่นคำขอโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนโดยลงลายมือชื่อ ของทั้งสองฝ่ายต่อหน้านายทะเบียน ให้ผู้โอนและผู้รับโอนแนบเอกสารตาม (1) (ข) มาพร้อมคำขอนั้น
ข้อ 20 การรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนในกรณีที่ผู้ขอตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือไม่มีผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ขอ ให้ทายาทผู้ขอรับมรดกยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) ภาพถ่ายใบมรณบัตร หรือเอกสารหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่าผู้ขอถึงแก่ความตาย
(2) หนังสือของทายาทผู้ขอรับมรดกที่ยืนยันว่า
(ก) ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้
(ข) ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
(ค) จำนวนทายาททั้งหมดและความเกี่ยวพันระหว่างผู้ตายกับทายาทของผู้ตาย พร้อมทั้งหลักฐานการเป็นทายาท
(3) ข้อตกลงของทายาทในการแบ่งทรัพย์สินอันเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของผู้ตาย
(4) บัตรประจำตัวของทายาทผู้ขอรับมรดก
ข้อ 21 การรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนในกรณีที่มีผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมหรือตามคำสั่งศาล หรือกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ทำพินัยกรรมระบุให้สิทธิในคำขอตกเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ผู้จัดการมรดก หรือผู้รับพินัยกรรมในสิทธินั้นยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) ภาพถ่ายใบมรณบัตร หรือเอกสารหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่าผู้ขอถึงแก่ความตาย
(2) ภาพถ่ายพินัยกรรม หรือสำเนาคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดก
(3) บัตรประจำตัวของผู้จัดการมรดกหรือของผู้รับพินัยกรรมนั้น
ข้อ 22 การโอนหรือการรับมรดกสิทธิในคำขอจดทะเบียนที่ได้ขอไว้เป็นเครื่องหมายชุด ให้โอนหรือรับมรดกกันทั้งชุด
ส่วนที่ 3 การจดทะเบียน
ข้อ 23 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนรายใด ให้ออกเลขทะเบียนตามลำดับการจดทะเบียน และจัดทะเบียนโดยมีรายการดังต่อไปนี้
(1) เลขที่คำขอและวันที่ยื่นคำขอ
(2) เลขทะเบียนและวันที่จดทะเบียน
(3) วันที่ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน
(4) ชื่อ สัญชาติ ที่อยู่และอาชีพของเจ้าของเครื่องหมายการค้า
(5) ชื่อ สัญชาติ ที่อยู่และอาชีพของตัวแทน
(6) สำนักงานหรือสถานที่ติดต่อในประเทศไทย
(7) รูปเครื่องหมายการค้า
(8) จำพวกและรายการสินค้า
(9) เงื่อนไข ข้อจำกัด และการแสดงปฏิเสธตามนัยมาตรา 17
(10) อายุการจดทะเบียน วันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจดทะเบียน
(11) รายการอื่น ๆ ที่นายทะเบียนเห็นสมควร
ส่วนที่ 4 การคัดค้านการจดทะเบียนและการโต้แย้งคำคัดค้าน
ข้อ 24 การคัดค้านการจดทะเบียน ให้ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านพร้อมแนบเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) สำเนาคำคัดค้าน จำนวน 1 ชุด
(2) บัตรประจำตัว
(3) เอกสารหลักฐานประกอบคำคัดค้าน
ข้อ 25 การโต้แย้งคำคัดค้านการจดทะเบียน ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งพร้อมแนบเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) สำเนาคำโต้แย้งตามจำนวนของผู้คัดค้าน
(2) เอกสารหลักฐานประกอบคำโต้แย้ง
ข้อ 26 ในกรณีที่ไม่อาจส่งเอกสารหลักฐานประกอบคำคัดค้านตามข้อ 24 (3) หรือคำโต้แย้งตามข้อ 25 (2) ได้ ให้ผู้คัดค้านหรือผู้ขอจดทะเบียนทำหนังสือขอผ่อนผันมาพร้อมกับการยื่นคำคัดค้านหรือคำโต้แย้งนั้น ในการนี้ให้นายทะเบียนมีอำนาจผ่อนผันได้สองคราวคราวละไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ยื่นหนังสือขอผ่อนผันในแต่ละคราว ในกรณีที่ผู้คัดค้านหรือผู้ขอจดทะเบียนไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาคำขอจดทะเบียนต่อไปโดยไม่ต้องรอเอกสารหลักฐานดังกล่าว
ส่วนที่ 5 การจดทะเบียนของผู้คัดค้าน
ข้อ 27 ในกรณีที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ตนคัดค้าน และได้มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่า ให้นายทะเบียนจดทะเบียนของผู้คัดค้านตามข้อ 23 โดยไม่ต้องประกาศโฆษณาคำขอของผู้คัดค้านอีก
[9]”ข้อ 28 ให้นายทะเบียนประกาศการรับจดทะเบียนของผู้คัดค้านในที่เปิดเผย ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยแสดงรายการดังต่อไปนี้”
(1) ข้อมูลเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของผู้ขอจดทะเบียนเดิมโดยย่อ
(2) ข้อมูลเกี่ยวกับคำคัดค้านของผู้คัดค้านและเหตุแห่งการคัดค้านโดยย่อ
(3) ข้อมูลเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของผู้คัดค้านดังต่อไปนี้
(ก) ชื่อผู้คัดค้าน
(ข) เลขที่คำขอและวันที่ยื่นคำขอ
(ค) รูปเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน
(ง) จำพวกและรายการสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้านั้น
(4) ผลคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดเกี่ยวกับการคัดค้านนั้น
([9] ข้อ 28 วรรค 1 แก้ไขโดย ข้อ 8 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
ส่วนที่ 6 หนังสือสำคัญและใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน
ข้อ 29 ในกรณีที่หนังสือสำคัญชำรุดในสาระสำคัญหรือสูญหาย เจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจขอรับใบแทนหนังสือสำคัญโดยยื่นคำขอพร้อมแนบหนังสือสำคัญที่ชำรุด หรือหลักฐานการแจ้งความว่าหนังสือสำคัญสูญหาย
ข้อ 30 การออกใบหนังสือสำคัญไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้ถือว่ามีผลเป็นการยกเลิกหนังสือสำคัญฉบับเดิม
ข้อ 31 เมื่อนายทะเบียนออกหนังสือสำคัญหรือใบแทนหนังสือสำคัญรายใดแล้วให้ส่งหนังสือสำคัญหรือใบแทนหนังสือสำคัญนั้นให้ผู้ขอจดทะเบียน ณ สำนักงานหรือสถานที่ติดต่อได้ในประเทศไทย โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือมอบให้ผู้ขอจดทะเบียนหรือตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจที่มาขอรับก็ได้
ส่วนที่ 7 การโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้า
ข้อ 32 การโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วให้นำข้อ 19 ข้อ 20 และข้อ 21 มาใช้บังคับโดยอนุโลมพร้อมแนบหนังสือสำคัญมาด้วย
ข้อ 33 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนการโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าแล้ว ให้บันทึกการจดทะเบียนดังกล่าวลงในทะเบียนและหนังสือสำคัญ แล้วส่งหนังสือสำคัญนั้นคืนให้แก่ผู้รับโอน
ส่วนที่ 8 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน
ข้อ 34 นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว อาจขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนได้ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ยกเลิกตัวแทน
(2) ตั้งหรือเปลี่ยนตัวแทน
(3) สัญชาติ ที่อยู่ และอาชีพของผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า
ข้อ 35 การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียน ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้ายื่นคำขอพร้อมแนบหนังสือสำคัญและสำเนาเอกสารอื่น ๆ ที่เป็นหลักฐานแห่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการนั้น ๆ
ข้อ 36 เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนแล้ว ให้บันทึกการแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงในทะเบียน และหนังสือสำคัญ แล้วส่งหนังสือสำคัญนั้นคืนให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
ส่วนที่ 9 การต่ออายุการจดทะเบียน
[10]ข้อ 37 การต่ออายุการจดทะเบียน ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้ายื่นคำขอพร้อมแนบหนังสือสำคัญมาด้วย
เจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุการจดทะเบียนพร้อมกับการยื่นคำขอต่ออายุ หรือภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียนก็ได้
([10] ข้อ 37 วรรคสอง เพิ่มเติมโดย ข้อ 9 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
ข้อ 38 เมื่อนายทะเบียนอนุญาตให้ต่ออายุการจดทะเบียนแล้ว ให้บันทึกการต่ออายุดังกล่าวลงในทะเบียน และหนังสือสำคัญ แล้วส่งหนังสือสำคัญนั้นคืนให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
ข้อ 39 การขอต่ออายุการจดทะเบียนที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้ายื่นคำขอต่ออายุโดยระบุรายการสินค้าที่ประสงค์จะใช้เครื่องหมายการค้าแต่ละอย่างโดยชัดแจ้ง แยกตามจำพวกสินค้าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จำพวกละฉบับและให้ชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุ การจดทะเบียนตามมอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ในกรณีที่รายการสินค้าที่ระบุตามวรรคหนึ่งเป็นสินค้าซึ่งเข้าข่ายต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดตามมาตรา 14 ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นเป็นเครื่องหมายชุดด้วย
ข้อ 40 เมื่อนายทะเบียนอนุญาตให้ต่ออายุการจดทะเบียนตามข้อ 39 แล้วให้ออกเลขทะเบียนและจัดทำทะเบียนใหม่แทน และออกหนังสือสำคัญแยกตามจำพวกสินค้าจำพวกละฉบับ เมื่อได้ออกหนังสือสำคัญตามวรรคหนึ่งแล้ว หนังสือสำคัญฉบับเดิมเป็นอันยกเลิก
ส่วนที่ 10 การเพิกถอนการจดทะเบียน
ข้อ 41 เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วอาจขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนเอง โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมแนบหนังสือสำคัญและเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) บัตรประจำตัว
(2) ในกรณีที่มีการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ให้ระบุถึงสัญญานอนุญาตให้ใช้
เครื่องหมายการค้าทุกราย พร้อมทั้งแนบคำยินยอมของผู้ได้รับอนุญาตว่าได้เพิกถอนทะเบียนได้เว้นแต่สัญญาอนุญาตดังกล่าวจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
[11]”ข้อ 42 เมื่อนายทะเบียนอนุญาตให้เพิกถอนการจดทะเบียนรายใดแล้ว ให้บันทึกการเพิกถอนลงในทะเบียน พร้อมทั้งยกเลิกหนังสือสำคัญ และประกาศโฆษณาการเพิกถอนนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์”
([11] ข้อ 42 แก้ไขโดย ข้อ 10 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
ข้อ 43 การประกาศโฆษณาว่าจะเพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา 59 วรรคสาม ให้นายทะเบียนดำเนินการตามข้อ 15 การประกาศโฆษณาตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงรายการดังต่อไปนี้
(1) เลขที่คำขอและเลขทะเบียนเครื่องหมายการค้า
(2) ชื่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าและตัวแทน
(3) สำนักงานหรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย
(4) ข้อเท็จจริงที่นายทะเบียนเชื่อว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือตัวแทนได้เลิกตั้งสำนักงาน หรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย
(5) รายการอื่น ๆ ที่นายทะเบียนเห็นสมควร
[12]ข้อ 44 เมื่อนายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรายใดแล้ว ให้บันทึกรายการเพิกถอนลงในทะเบียน และให้ถือว่าหนังสือสำคัญที่ได้ออกให้แล้วนั้นเป็นอันยกเลิก การสั่งเพิกถอนตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศโฆษณาไว้ในที่เปิดเผย ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์
([12] ข้อ 44 วรรคสอง แก้ไขโดย ข้อ 11 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
ส่วนที่ 11 การขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า
ข้อ 45 การขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้า และผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตยื่นคำขอพร้อมแนบสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งมีลายมือชื่อของเจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาต และหนังสือสำคัญคำขอตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะต้องแสดงรายการตามมาตรา 68 วรรคสาม (1) และ (2) แล้วให้แสดงด้วยว่าผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่ผู้เดียว หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกได้
ข้อ 46 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าแล้วให้บันทึกการจดทะเบียนนั้นลงในทะเบียนและหนังสือสำคัญ แล้วส่งหนังสือสำคัญและสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าคืนให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
ส่วนที่ 12 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า
ข้อ 47 การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าให้เจ้าของเครื่องหมายการค้า และผู้ได้รับอนุญาตร่วมกันยื่นคำขอ โดยระบุถึงส่วนที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยชัดแจ้ง พร้อมแนบเอกสารดังต่อไปนี้
(1) สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าฉบับแก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งมีลายมือชื่อของเจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาต
(2) หนังสือสำคัญ
ข้อ 48 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าแล้ว ให้บันทึกรายการที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงลงในทะเบียนและหนังสือสำคัญ แล้วส่งหนังสือสำคัญและสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าคืนให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
ส่วนที่ 13 การเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า
ข้อ 49 การขอเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 72วรรคหนึ่ง ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาตร่วมกันยื่นคำขอพร้อมแนบหนังสือสำคัญและสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า
ข้อ 50 การขอเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 72 วรรคสอง ให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตยื่นคำขอ พร้อมแนบเอกสารที่แสดงว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าได้สิ้นสุดลงแล้ว
ข้อ 51 การขอเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 72 วรรคสาม (1) และ (2) ให้ปฏิบัติดังนี้
(1) กรณีผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้ร้องขอ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมแสดงเหตุแห่งการร้องขอให้เพิกถอนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอแล้วให้เสนอคำขอดังกล่าวต่อคณะกรรมการ
(2) กรณีนายทะเบียนเป็นผู้ร้องขอ ให้นายทะเบียนยื่นคำขอต่อคณะกรกรมการพร้อมแสดงเหตุแห่งการขอให้เพิกถอนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น
ข้อ 52 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนจากจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามข้อ 49 แล้ว ให้บันทึกการเพิกถอนลงในทะเบียน หนังสือสำคัญและสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แล้วส่งหนังสือสำคัญและสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าคืนให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
[13]ข้อ 53 เมื่อคำสั่งของนายทะเบียนหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเป็นที่สุดตามมาตรา 74 หรือคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุดตามมาตรา 75 หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าแล้ว ให้นายทะเบียนเรียกเจ้าของเครื่องหมายการค้าให้ส่งหนังสือสำคัญและสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า และบันทึกการเพิกถอนลงในทะเบียนหนังสือสำคัญและสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แล้วส่งหนังสือสำคัญและสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นคืนให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
([13] ข้อ 53 แก้ไขโดย ข้อ 12 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2543))
หมวด 3 เครื่องหมายบริการ และเครื่องหมายรับรอง
ข้อ 54 ให้นำความในหมวด 2 เครื่องหมายการค้ามาใช้บังคับกับเครื่องหมายบริการด้วยโดยอนุโลม และให้คำว่า “สินค้า” ในหมวดดังกล่าวให้หมายความถึง “บริการ”
ข้อ 55 ให้นำความในหมวด 2 เครื่องหมายการค้า เฉพาะส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 10 มาใช้บังคับกับเครื่องหมายรับรองด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 56 การขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองให้เจ้าของเครื่องหมายรับรองยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) หนังสือสำคัญ
(2) ข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองฉบับแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเฉพาะส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงจากข้อบังคับฉบับเดิม
(3) เอกสารหลักฐานแสดงถึงความสามารถในการรับรองตามข้อบังคับที่ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง
(4) เอกสารหลักฐานหรือคำชี้แจงที่แสดงว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับจะไม่กระทบกระเทือนต่อประโยชน์ของสาธารณชน
ข้อ 57 เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองแล้ว ให้บันทึกการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับในทะเบียนและหนังสือสำคัญและดำเนินการประกาศโฆษณาสาระสำคัญของข้อบังคับที่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลง กับมีหนังสือแจ้งเจ้าของเครื่องหมายรับรองพร้อมทั้งส่งหนังสือสำคัญนั้นคืนให้แก่เจ้าของเครื่องหมายรับรอง
ข้อ 58 การขออนุญาตโอนสิทธิและการขอจดทะเบียนการโอนสิทธิในเครื่องหมายรับรองให้ผู้โอนยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) หนังสือสำคัญ
(2) สัญญาโอนสิทธิในเครื่องหมายรับรองลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนหรือเอกสารหลักฐาน ที่แสดงถึงการโอนสิทธินั้น
(3) หนังสือรับรองความสามารถของผู้รับโอนพร้อมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับรอง คุณลักษณะของสินค้าหรือบริการตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรอง
(4) บัตรประจำตัวของผู้โอนและผู้รับโอน
เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งอนุญาตให้โอนสิทธิตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้จดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายรับรอง และบันทึกการจดทะเบียนลงในทะเบียนและหนังสือสำคัญ แล้วส่งหนังสือสำคัญนั้นให้แก่ผู้รับโอน
หมวด 4 เครื่องหมายร่วม
ข้อ 59 ให้นำความในหมวด 2 เครื่องหมายการค้า เฉพาะส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 10 มาใช้บังคับกับเครื่องหมายร่วมด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 60 การขอจดทะเบียนเครื่องหมายร่วม ให้ยื่นคำขอโดยบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นเครื่องหมายร่วมที่ใช้หรือจะใช้โดยบุคคลหรือนิติบุคคลของกลุ่มใด ๆ ซึ่งมีการ รวมกลุ่มในลักษณะที่ไม่เกิดเป็นนิติบุคคลขึ้นใหม่ต่างหากจากบุคคลหรือนิติบุคคลเดิม จะยื่นคำขอโดยบุคคลหรือนิติบุคคลทั้งหมดในกลุ่ม หรือบุคคลหรือนิติบุคคลใดในกลุ่มก็ได้ และถ้าเป็นกรณีที่ยื่นคำขอโดยบุคคลหรือนิติบุคคลใดในกลุ่ม ให้ผู้ขอจดทะเบียนระบุด้วยว่าเครื่องหมายร่วมนั้นใช้หรือจะใช้โดยบุคคลหรือนิติบุคคลใดบ้าง
(2) ในกรณีที่เป็นเครื่องหมายร่วมที่ใช้หรือจะใช้โดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพสมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน ให้สมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชนนั้นเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน และให้ผู้ขอจดทะเบียนระบุด้วยว่าเครื่องหมายร่วมที่ขอจดทะเบียนนั้นใช้หรือจะใช้โดยสมาชิกทุกคนหรือเฉพาะสมาชิกคนใด
การขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้แนบเอกสารหลักฐานหรือคำชี้แจงที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายร่วมนั้นด้วย
ข้อ 61 การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายร่วม การขอต่ออายุเครื่องหมายร่วม และการขอเพิกถอนเครื่องหมายร่วม ให้ผู้ขอจดทะเบียนร่วมนั้นเป็นผู้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามข้อ 60 (1) และผู้นั้นไม่สามารถดำเนินการได้ ผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายร่วมอื่น ๆ จำนวนข้างมากในกลุ่มอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งในกลุ่มมาดำเนินการแทนผู้ขอจดทะเบียนเดิมก็ได้
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2535
อมเรศ ศิลาอ่อน
(นายอมเรศ ศิลาอ่อน)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535)
ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 (*)
———————————–
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ข้อ 2. ให้กำหนดค่าธรรมเนียม ดังนี้
(1) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม สินค้าหรือบริการอย่างละ 500 บาท
(2) – (ยกเลิกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2543) )
(3) แม่พิมพ์รูปเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมที่มีด้านกว้างหรือด้านยาวเกิน 5 เซนติเมตรให้คิดเฉพาะส่วนที่เกิน เซ็นติเมตรละ 100 บาท เศษของเซ็นติเมตรให้คิดเป็นหนึ่งเซนติเมตร
(4) คำคัดค้านการขอจดทะเบียนตาม (1) ฉบับละ 1,000 บาท
(5) คำขอโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม คำขอละ 1,000 บาท
(6) การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม สินค้าหรือบริการอย่างละ 300 บาท
(7) ใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
(* แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2543))
(8) คำขอจดทะเบียนการโอนหรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม คำขอละ 1,000 บาท
(9) คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนตาม (6) คำขอละ 200 บาท
(10) คำขอต่ออายุการจดทะเบียนตาม (6) สินค้าหรือบริการอย่างละ 1,000 บาท
(11) คำร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนตาม (6) ฉบับละ 500 บาท
(12) คำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ คำขอละ 500 บาท
(13) การจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใชัเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ สัญญาละ 1,000 บาท
(14) คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน คำขอละ 200 บาท ตาม (13)
(15) คำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตาม (13) คำขอละ 200 บาท
(16) คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอจดทะเบียน คำขอละ 100 บาทตาม (1) (8) หรือ (12)
(17) คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรอง
(ก) ก่อนการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง คำขอละ 100 บาท
(ข) หลังการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง คำขอละ 200 บาท
(18) อุทธรณ์
(ก)อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 27 หรือคำวินิจฉัยของ นายทะเบียน ตามมาตรา 37 ฉบับละ 2,000 บาท
(ข) อุทธรณ์ตามมาตราอื่น ฉบับละ 1,000 บาท
(19) การขอตรวจดูทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม หรือสารบบเครื่องหมายดังกล่าว ชั่วโมงละ 100 บาท เศษของชั่วโมงให้คิดเป็นหนึ่งชั่วโมง
(20) การขอสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม เป็นชุดพร้อมคำรับรอง ฉบับละ 200 บาท
(21) การขอคัดสำเนาเอกสาร หน้าละ 10 บาท
(22) การขอให้รับรองสำเนาเอกสารเรื่องเดียวกัน
(ก) เอกสารไม่เกิน 10 หน้า ฉบับละ 10 บาท
(ข) เอกสารเกิน 10 หน้า ฉบับละ 100 บาท
(23) การขอคำรับรองจากนายทะเบียนเกี่ยวกับรายการการจดทะเบียน ฉบับละ 50 บาท
(24) คำขออื่น ๆ คำขอละ 100 บาท
ให้ไว้ ณ วันที่ ตุลาคม พ.ศ. 2540
(นายณรงค์ชัย อัครเศรณี)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์