หมวด 5 เบ็ดเตล็ด
มาตรา 103 ในระหว่างเวลาทำการ บุคคลใด ๆ มีสิทธิมาตรวจดูทะเบียนเครื่องหมาย
การค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองและเครื่องหมายร่วม สารบบเครื่องหมายดังกล่าว
ขอคัดสำเนาหรือขอให้รับรองสำเนาเอกสาร หรือขอคำรับรองจากทะเบียนเกี่ยวกับรายการจดทะเบียน
โดยเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 104 หนังสือเรียก หนังสือแจ้ง หรือหนังสืออื่นใด ที่มีถึงผู้ขอจดทะเบียน
ผู้คัดค้าน เจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม
ที่ได้จดทะเบียนแล้ว ผู้ได้รับอนุญาตหรือบุคคลอื่นใด เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่ง
โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ สำนักงานหรือสถานที่ที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนหรือที่ได้
จดทะเบียนไว้แล้วแต่กรณี
ถ้าไม่สามารถส่งตามวิธีดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้ จะให้เจ้าพนักงานนำหนังสือนั้นไปส่งหรือจะ
ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ในกรณีที่ให้เจ้าพนักงานนำหนังสือนั้นไปส่ง
ถ้าไม่พบผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในสำนักงานหรือสถานที่
ดังกล่าวหรือจะปิดหนังสือนั้นไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานหรือสถานที่ดังกล่าวของผู้รับนั้นก็ได้
เมื่อได้ส่งตามวิธีการดังกล่าวในวรรคสองและเวลาได้ล่วงพ้นไปเจ็ดวันแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้น
ได้รับหนังสือนั้นแล้ว
มาตรา 105 เพื่อประโยชน์ในการฟ้องร้องและดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วมตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ขอจดทะเบียน หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้ถือว่าสำนักงานหรือสถานที่ของบุคคลดังกล่าวหรือตัวแทน
ตามที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนหรือที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นภูมิลำเนาของบุคคลดังกล่าว
มาตรา 106 ในกรณีที่นายทะเบียนร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม หรือให้สั่งเพิกถอน
การจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ให้นายทะเบียนได้รับ
ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้
[20] มาตรา 106 ทวิ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ทำการ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย สถานที่รับซื้อ หรือสถานที่เก็บสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจ หรือของบุคคลใด หรือสถานที่อื่นที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเข้าไปในยานพาหนะของบุคคลใด หรือสั่งเจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะให้หยุดหรือจอด เพื่อตรวจสอบให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อตรวจค้นและยึดพยานหลักฐานหรือทรัพย์สินที่อาจริบได้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือจับกุม ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ต้องมีหมายค้นในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำในสถานที่หรือยานพาหนะ
(ข) บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไป หรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้ซุกซ่อนอยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะ
(ค) เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าพยานหลักฐานหรือทรัพย์สินที่อาจริบได้ ตามพระราชบัญญัตินี้ อยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะ ประกอบทั้งมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ พยานหลักฐานหรือทรัพย์สินจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
(ง) เมื่อผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าของสถานที่หรือยานพาหนะ และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย
ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริง หรือเรียกบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ เจ้าของ หรือผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือจากบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง ตลอดจนสั่งให้บุคคลดังกล่าวซึ่งอยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะนั้นปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น
(๒) ในกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้งเป็นที่เชื่อถือได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้มีอำนาจอายัดหรือยึดสินค้า ยานพาหนะ เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไปก่อนได้ แต่ต้องรายงานต่ออธิบดีเพื่อให้ความเห็นชอบภายในสามวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
([20] มาตรา 106 ทวิ เพิ่มเติมโดยมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543)
[21] มาตรา 106 ตรี ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๖ ทวิ นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
([21] มาตรา 106 ตรี เพิ่มเติมโดยมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .2543
[22] มาตรา 106 จัตวา ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
([22] มาตรา 106 จัตวา เพิ่มเติมโดยมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543