ความรู้ทัวไปเรื่องสิทธิบัตร – ความเป็นมา

ความเป็นมา

ในต่างประเทศ ได้มีการให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นในรูปของสิทธิพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพระราชทานโดยกษัตริย์ เป็นสิทธิบัตรที่ออกให้สำหรับเทคโนโลยีใหม่ในสมัยนั้น เช่น กังหันลม เครื่องจักรทอผ้า วิธีการต่อเรือและการทำเหมืองแร่ เป็นต้น กฎหมายสิทธิบัตรที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก คือกฎหมายของสาธารณรัฐเวนิช ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2017

ในช่วงคริสตศวรรษที่ 13 – 16 กษัตริย์อังกฤษได้ทรงให้การส่งเสริมและสนับสนุนแก่ผู้ประกอบกิจการค้า รวมทั้งผู้ที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยพระราชทานสิทธิพิเศษแก่บุคคลเหล่านั้น แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษกลับใช้สิทธิจนเกินขอบเขต เช่น กำหนดราคาสินค้าสูงมากและผลิตสินค้าน้อยจนประชาชนเดือดร้อน ปี พ.ศ. 2166 รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการผูกขาดซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรกของอังกฤษ โดยได้ยกเลิกสิทธิผูกขาดอื่นๆ ทั้งหมด ยกเว้นสิทธิพิเศษสำหรับผู้ประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่ในการที่จะผลิตสิ่งนั้นชั่วระยเวลาหนึ่ง

สหรัฐอเมริกา ได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประดิษฐ์ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ จนปี พ.ศ. 2333 สภาครองเกรสได้ออกกฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรก พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อบริหารงานตามกฎหมายนี้

ญี่ปุ่น ได้มีการประกาศใช้กฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. 2414 การพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้อาศัยระบบสิทธิบัตรเป็นพื้นฐานมาโดยตลอด เช่น นายซาคาชิ โตโยดะ ผู้ก่อตั้งบริษัทโตโยต้า โดยอาศัยเงินทุนจากการขายสิทธิบัตรเกี่ยวกับหูกทอผ้าให้แก่บริษัทอังกฤษเป็นเงิน 100,000 ปอนด์ ญี่ปุ่นได้พัฒนาระบบสิทธิบัตรมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันนับได้ว่าระบบสิทธิบัตรของญี่ปุ่นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก

โซเวียต เมื่อครั้งยังเป็นสหภาพโซเวียต ได้มีกฎหมายสิทธิบัตรปี พ.ศ. 2439 ต่อมาในช่วงสงครามปฏิวัติจะสิ้นสุดลง เลนินได้ลงนามในกฎหมายแห่งสภาประชาชน ว่าด้วยการประดิษฐ์ ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองและใช้ผลงานจากการประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม กฎหมายสิทธิบัตรของสหภาพโซเวียตฉบับที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2516 นับเป็นกฎหมายแม่แบบของประเทศสังคมนิยมอื่นๆ

ประเทศไทย ได้มีความพยายามที่จะออกกฎหมายสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 โดยคาดว่าได้มีการยกร่างกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า “Law on Patents” ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2456 และได้มีการยกร่างกฎหมายสิทธิบัตรมาโดยตลอด พร้อมทั้งได้มีการเตรียมงานในการที่จะนำระบบสิทธิบัตรมาใช้ในประเทศไทย แต่ได้รับการคัดค้านจากสมาชิกรัฐสภาฯ ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่างกฎหมายสิทธิบัตรให้คณะรัฐมนตรีพืจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2522 ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น

Scroll to Top